วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การเตรียมเชื้อเห็ดฟางจากดอกเห็ดฟางสด



การเตรียมเชื้อเห็ดฟางจากดอกเห็ดฟางสด
ส่วนประกอบ 
  1. ต้นกล้วยสดตากแห้ง 1 กิโลกรัม
  2. ดอกเห็ดฟางสด (ดอกตูม) 1 ดอก

   กรรมวิธี
  1.นำต้นกล้วยสด และควรเป็นต้นกล้วยตัดใหม่ๆ มาหั่นเป็นแว่นๆ หนาประมาณ ½ -1 เซนติเมตร ถ้าเป็นต้นกล้วยที่มีเครือแล้วให้เก็บส่วนของก้านเครือทิ้งให้หมด แล้วใช้มีดสับต้นกล้วยที่หั่นแล้วให้ละเอียดเล็กน้อยประมาณ 1-2 เซนติเมตร นำไปผึ่งแดด โดยมีแผ่นพลาสติกหรือวัสดุรองพื้นที่สะอาดเกลี่ยให้บางๆ ประมาณ 4-5 วัน ควรกลับกองต้นกล้วยทุกวันจนต้นกล้วยแห้งสนิทจึงนำไปใช้เป็นเชื้อเห็ดฟาง หรือใส่ถุงพลาสติกเก็บรักษาไว้ใช้ต่อไป

 2. นำต้นกล้วยที่แห้งแล้วดังกล่าวข้างต้น วางบนพื้นซีเมนต์หรือบนแผ่นพลาสติก พรมด้วยน้ำสะอาดผสมคลุกเคล้าจนทั่ว แล้วนำไปตรวจสอบให้มีความชื้นหมาดๆ โดยการใช้มือกำต้นกล้วยแล้วบีบให้แน่น เมื่อคลายมือออกต้นกล้วยจะเป็นก้อนเล็กน้อย หรือรู้สึกชื้นมือ ถ้าบีบแล้วน้ำหยดหรือซึมออกตามง่ามมือแสดงว่าความชื้นมากเกินไปต้องผึ่งลมทิ้งไว้ให้ความชื้นระเหยไปประมาณ 1-2 ชั่วโมง (ความชื้นมากเกินไปเส้นใยเห็ดฟางจะไม่เจริญ)
  
 3. บรรจุต้นกล้วยลงถุงประมาณ ½ ถุง หรือมีน้ำหนักประมาณถุงละ 200 กรัม (ต้นกล้วยแห้งหนึ่งกิโลกรัม บรรจุได้ประมาณ 15-20 ถุง) นำไปตั้งเรียงไว้เป็นแถวๆ
  4. นำดอกเห็ดฟางสดมาทำความสะอาด โดยใช้มีดคัทเตอร์ตัดแบ่งบริเวณโคนดอกเห็ดฟางที่สกปรกหรือมีวัสดุเพาะติดโคนดอกมาออกให้หมด ควรทำอย่างระมัดระวัง อย่าให้ดอกเห็ดฟางกระทบกระเทือนหรือชอกช้ำมาก

  5. เทแอลกอฮอล์ลงในแก้วประมาณ ½ แก้ว แล้วนำดอกเห็ดฟางที่ตัดแต่งแล้วจุ่มลงไปจนมิดดอกเห็ดฟางแล้วนำออกมาวางในแก้วที่สะอาด ปล่อยให้แอลกอฮอล์ระเหยออกจากดอกเห็ดฟางจนแห้ง (ห้ามนำดอกเห็ดฟางแช่ลงในแอลกอฮอล์แล้วแช่ทิ้งไว้)

  6. นำสำลีจุ่มลงในแอลกอฮอล์แล้วนำไปเช็ดถูทำความสะอาดใบมีดคัทเตอร์ ใช้มีดตัดส่วนของดอกเห็ดฟาง ส่วนใดก็ได้อย่างระมัดระวังขนาดประมาณ 1 ตารางเซนติเมตร หนาประมาณ 1 มิลลิเมตร ใส่ลงไปในถุงที่บรรจุต้นกล้วยเตรียมไว้ ถุงละ 1 ชิ้นทุกถุง เห็ดฟาง 1 ดอก ใช้ได้ประมาณ 10 ถุง

  7. จับปากถุงแล้วเขย่าให้เนื้อเยื่อดอกเห็ดฟางอยู่ในบริเวณกึ่งกลางด้านข้างถุงพอดีแล้วแนบปากถุงพับลงมา 2-3 ครั้ง เย็บปากถุงด้วยเข็มเย็บกระดาษ 2-3 ครั้ง เป็นอันว่าเสร็จ 1 ถุง ให้ทำถุงต่อไปจนเสร็จสิ้นทั้งหมด
  8. นำถุงเชื้อเห็ดฟางบรรจุลงในตะกร้าหรือลังไม้ เรียงเป็นแถว ทับซ้อนกันได้ไม่เกิน 2 ชั้น แล้วนำไปบ่มเชื้อในอุณหภูมิห้องปกติ (30 องศาเซลเซียส) ประมาณ 10-15 วัน เส้นใยเห็ดฟางจะเจริญจนเต็มถุง จึงนำไปเพาะหรือนำไปต่อเชื้อเพื่อขยายให้มีปริมาณมากขึ้นต่อไป

ข้อดีของการใช้ต้นกล้วยทำเชื้อเห็ดฟาง
  1. เป็นวัสดุที่จัดหาได้ง่าย มีอยู่ทั่วไปในท้องถิ่น
  2. ต้นทุนต่ำและทำได้ง่าย
  3. ปลอดจากเชื้อจุลินทรีย์
  4. สามารถคัดเลือกสายพันธุ์เห็ดฟางได้ตามความต้องการ
เส้นใยเห็ดฟางแข็งแรงสมบูรณ์ และให้ผลผลิตสูง 

   เทคโนโลยีการผลิต / เครื่องมืออุปกรณ์
  1. ต้นกล้วยสดตากแห้ง 1 กิโลกรัม
  2. ถุงพลาสติกชนิดใส ขนาด 6x9 นิ้ว 10 ใบ
  3. มีดคัทเตอร์ 1 ด้าน
  4. แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ 70% 1 ขวด
  5. แก้วเปล่า 1 ใบ
  6. เข็มเย็บกระดาษ 1 อัน
  7. ดอกเห็ดฟางสด (ดอกตูม) 1 ดอก
  8. กระดาษที่สะอาด 1 แผ่น
  9. สำลีเล็ดน้อย
  10. น้ำสะอาดเล็กน้อย

วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

Horse Selection: การเลือกม้าใช้งาน

Horse Selection: การเลือกม้าใช้งาน by นายโก้

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ความเดิมตอนที่แล้วเรามาคุยกันเรื่องม้ารุ่น (Yearling) ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีการเจริญเติบโตของโครงสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ โดยทั่วไปช่วงอายุนี้ก็จะเป็นจุดวิกฤตหนึ่งของม้า เพราะม้าที่จะเป็นม้าที่มีความสามารถดีในทางกีฬาและใช้งานจะต้องผ่านช่วงวัยนี้อย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพร่างกาย เจ็บป่วย หรือสุภาพจิตถูกทารุณกรรม ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการฝึกใช้งาน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลา ความสามารถ ความพยายาม และเงิน

ในประเทศที่มีประชากรม้ามากๆ ม้าที่จะถูกคัดเลือกไปใช้งานเมื่ออายุเข้า 2-3 ปี ม้าที่ไม่ผ่านการคัดเลือกจะถูกส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์ การคัดเลือกนี้เป็นเหตุผลหนึ่งของการพัฒนาสายพันธุ์ม้า (Horse selection by human) ทำให้ประชากรของม้าที่เหลืออยู่เป็นม้าที่มีลักษณะดี ทำให้ความเบี่ยงเบนมาตรฐานของพันธุกรรมต่ำ ม้ารุ่นหลังที่เกิดมาก็จะมีลักษณะดีเด่นยิ่งๆขึ้นไป ในธรรมชาติก็เช่นเดียวกัน ม้าป่าก็จะถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural selection) ม้าที่เกิดมาไม่แข็งแรงสมบูรณ์ก็จะมีโอกาสรอดชีวิตในธรรมชาติน้อย และสูญพันธุ์ไปในที่สุด

ในความคิดเห็นของผู้เขียน ประชากรม้าในประเทศไทยยังมีน้อย การคัดเลือกที่เกิดขึ้นจึงยังไม่มีความเข้มข้น หรือมีตัวเลือกน้อยนั่นเอง เราไม่สามารถคัดทิ้งม้าเข้าโรงฆ่าสัตว์ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ผสมพันธุ์ม้า (Horse Breeder) สามารถร่วมกันคัดเลือกลักษณะม้าที่ดีทั้งพ่อม้าและแม่ม้าให้สามารถขยายพันธุ์ได้ ส่วนม้าเพศผู้ที่ลักษณะไม่ดีเราก็ควรทำการตอน (Castration) ทำหมันเพื่อไม่ให้ม้าตัวนั้นสืบต่อลักษณะที่เลวต่อไปในอนาคต

ในการคัดเลือกม้าที่จะนำเสนอในฉบับนี้เป็นแนวทางการเลือกม้าในระบบสากล โดยดูจากโครงสร้างกายวิภาคของม้า สรีระการทำงานในระบบต่างๆของร่างกาย เพื่อเป็นพื้นฐานแนวทางในการคัดเลือกม้าของผู้ผสมพันธุ์ม้า และผู้เลี้ยงม้าในประเทศไทย ทั่วๆไป ไม่ได้จำเพาะเจาะจงในสายพันธุ์ใดโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีมาตรฐานของสายพันธุ์กำกับในอีกระดับหนึ่ง หลักใหญ่ใจความคือ ม้านั้นจะต้อง ไม่พิการ ไม่มีปัญหาทางระบบประสาท ไม่มีปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ และไม่เป็นโรคติดต่อ เพราะม้าเหล่านี้ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ลักษณะทั่วไปทางกายภาพ (General appearance) เมื่อเราจะมองม้าซักตัวว่าม้าตัวนั้นสมส่วนหรือไม่ เราจะจับม้าลงไปในกล่อง ไม่ใช่กล่องจริงๆนะ โดยเราจะสร้างเส้นสี่เหลี่ยมจัตุรัสสมมุติขึ้นมาจากภาพ จะเห็นเส้นสีแดงเป็นเส้นสมมุติ (Ideal) ที่เราต้องการ เริ่มมองจากขาหน้าความสูงจากพื้นกีบจนถึงตะโหนกม้าจะต้องยาวเท่ากับความยาวลำตัววัดจากหัวไหล่ไปถึงปลายสุดแก้มก้น และท้ายจุดสูงสุดของสะโพกจนถึงปลายกีบ แต่ความจริงม้าตัวนี้มีความยาวลำตัวไม่สัมพันธ์กับความสูงตามเส้นสีขาว (Actual) ในภาพเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ลำตัว (Body or barrel) ม้าที่ดีควรจะมีหลังที่ตรง บ่งบอกถึงการรับน้ำหนักจากผู้ขี่หรือใช้งาน ม้าที่มีอายุมากขึ้นหลังจะแอ่นลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อเราเลือกม้าอายุน้อยแนวของเส้นหลังควรจะเป็นเส้นตรง ความลึกของลำตัวบ่งบอกถึงความอดทน (stamina) เพราะม้ามีกระดูกซี่โครงมากถึง 18 คู่ ที่บรรจุปอดไว้ ม้าที่สุขภาพดีท้องจะไม่หย่อนหรือป่องออกมาจากแนวลำตัวมากนัก ทำให้ผมนึกถึงคำโบราณเกี่ยวกับการเลือกสัตว์กีบไว้ว่า “หลังกุ้ง พุงปลากด” พอจะนึกภาพออก คงไม่ต้องอธิบายนะครับ

มุมของหัวไหล่ (Shoulder joint) เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญในการเคลื่อนที่ของม้า ที่ผู้ขี่ (Riders) ผู้ผสมพันธุ์ (breeders) แม้กระทั่งผู้ฝึกสอน (trainers) มักจะมองข้ามไป และทำให้เกิดปัญหาม้าขากระเผลก (lameness) โดยจะไปมุ่งเน้นที่ขาส่วนล่าง (lower limb) มากกว่า ในจินตนาการมุมของของหัวไหล่กระดูกต้นแขน (humerus) ทำมุมต่อกระดูกสะบัก (scapula) เป็นมุม 45 องศา แต่อาจจะมีความแตกต่างของสายพันธุ์

ขาส่วนล่าง (Lower limb) โดยดูจากข้อศอก (elbow joint) เป็นแนวเส้นตรงลงมาจนถึงข้อเท้า (pastern joint) ม้าที่มีลักษณะผิดปกติจะส่งผลในการใช้งานในระยะยาว สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ม้าเหล่านี้ไม่สามารถเป็นนักกีฬาได้ (performance horse) หรือแม้แต่การนำไปเป็นม้าขี่ใช้งาน (working horse) ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายแก่ตัวม้าและผู้ขี่ได้

แนวการยืนในท่าปกติของม้า ทั้งขาหน้าและขาหลังเมื่อวัดจากแนวดิ่งควรจะต้องทำมุมตั้งฉากกับพื้น จากภาพแสดงให้เห็นเส้นจินตนาการที่ต้องการสีแดง และเส้นสีขาวซึ่งบ่งชี้ว่าผิดปกติ

มุมของกับขาหน้าจะต้องทำมุม 45 องศา และขาหลัง 50 องศากับพื้น ส่งผลต่อมุมของข้อเท้า (Pastern joint) มีผลต่อการก้าวย่าง (gait) ของม้าโดยตรง ซึ่งผมเคยเขียนรับใช้ท่านแล้วในเรื่องของกีบเท้าม้าในเล่มที่ผ่านๆมา

เมื่อมองจากด้านหน้า และด้านหลังเมื่อม้ายืนปกติจะต้องทิ้งดิ่งทำมุมตั้งฉากกับพื้นดิน และสมมาตรระหว่างด้านซ้ายและขวา ม้าที่ขาบิดเข้าหรือแบะออกจะทำให้มีความผิดปกติเมื่อเคลื่อนที่

จากภาพแสดงความผิดปกติของขาม้าในท่ายืนปกติ โดยปลายกีบแบะออกไม่มีความสมมาตร ม้าเหล่านี้จะสังเกตพบรอยแผลเนื่องจากการวิ่งแล้วขากระทบกัน ม้าที่พบว่าข้อบวม (Edema) สามารถบ่งชี้ถึงความผิดปกติของม้าได้มากมายหลายสาเหตุและอาจจะทำให้เกิดความรุนแรงตามมา
เมื่อเราสำรวจตัวม้าได้ถ้วนทั่วแล้ว สิ่งสุดท้ายก่อนตัดสินใจนำม้าตัวนั้นมาเข้าสู่การฝึกคือ การตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์ ซึ่งเป็นกระบวนการทั่วไปในการซื้อขายม้าในต่างประเทศ หากสัตวแพทย์มีความสงสัยอาจจะส่งวินิจฉัยเพิ่มเพิ่มด้วยการถ่ายภาพรังสี (X-ray) หรือ อัลตราซาวด์ (ultrasound) ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และที่ขาดไม่ได้ม้าควรจะได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และตรวจโรคติดต่อ


เมื่อได้ม้าตรงตามวัตถุประสงค์แล้วเราก็จะเข้าสู่กระบวนการฝึกกัน แต่ฉบับนี้หน้ากระดาษหมดแล้วเพราะมีรูปเยอะหน่อย เอาไว้ติดตามต่อในฉบับหน้านะครับ สวัสดี

Yearling ม้ารุ่น

Yearling
ม้ารุ่น by นายโก้


สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ความเดิมตอนที่แล้วเรามาคุยกันเรื่องม้าหย่านม (Weaning) ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญในการเจริญเติบโตของม้าจนกว่าจะเป็นม้าโตที่ใช้งานได้ ในฉบับนี้เราจะมาดูม้ารุ่น (yearling) ซึ่งเป็นอีกช่วงวัยหนึ่งที่จะต้องมีการจัดการที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ม้าที่ดีพร้อมนำไปฝึกใช้งาน เป็นรอยต่อของวัยที่จะส่งผลโดยตรงต่อชีวิตม้าในอนาคต

ลูกม้าเมื่อแรกเกิดได้รับการเลี้ยงดูจากแม่เป็นช่วงต้นของชีวิตที่ได้รับอิทธิพลจากแม่ม้าโดยตรงคือ ถ้าแม่ม้ามีช่องท้องขนาดใหญ่ลำตัวลึก ลูกม้าก็สามารถพัฒนาโครงสร้างตัวได้ใหญ่และคลอดได้สะดวก แม่ม้าที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์มีนมเลี้ยงลูกม้าอย่างเพียงพอ ลูกม้าก็จะได้รับน้ำนมซึ่งเป็นอาหารหลักของลูกม้าทำให้ลูกม้ามีอัตราการเจริญเติบโตเร็วกว่าลูกม้าที่ไม่ได้รับน้ำนมเพียงพอ  แม่ม้าที่มีสุขภาพจิตที่ดี มีลักษณะความเป็นแม่สูงก็สามารถเลี้ยงลูกม้าให้มีสุขภาพจิตที่แข็งแรง ไม่หงุดหงิดกับการเรียนรู้ของลูก เอาใจใส่ระแวดระวังภัยอันจะเกิดแก่ลูกม้า พฤติกรรมที่ดีต่อมนุษย์ก็จะส่งผ่านมายังลูกม้าได้อีกด้วย

หลังจากหย่านมแล้วลูกม้าก็จะเข้าสู่ช่วงขวบปีแรก ซึ่งมีพัฒนาการทางร่างกายอย่างรวดเร็ว ในช่วงนี้ลูกม้าสามารถเพิ่มความสูงและน้ำหนักตัวมากขึ้น ม้าควรจะได้รับอาหารคุณภาพดีในปริมาณที่เหมาะสม อันประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ

Energy / Carbohydrates ม้าเป็นสัตวกระเพาะเดี่ยว (non ruminant) กินพืชเป็นอาหาร (herbivores) ย่อยและดูดซึมสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (nonstructural Carbohydrates) ที่กระเพาะและลำไส้ จำพวก แป้งและน้ำตาล ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดผ่าน portal vein นำไปใช้เป็นพลังงานได้ทันที ส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปสะสมที่ตับ อาหารหยาบจะถูกส่งผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่แล้วเกิดกระบวนการหมักจะได้ Volatile fatty acid จะถูกดูดซึมที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ง่าย
Fat/Lipid ไขมันในอาหารม้าเมื่อม้ากินเข้าไปจะถูกสะสมอยู่ในรูปของไกลโคเจน เป็นพลังงานสำรองเมื่อม้าต้องการใช้พลังงานในการออกกำลังกาย ซึ่งจะมีความสำคัญในม้ากีฬาที่จะต้องใช้พลังงานจำนวนมาก

Protein โปรตีนในอาหารม้ามีความสำคัญต่อม้าในวัยที่กำลังเจริญเติบโต ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างโครงสร้างของร่างกาย กล้ามเนื้อและน้ำหนักตัว โปรตีนที่ดีจะต้องมีความสามารถในการย่อยได้สูง (digestible protein) ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำมาประกอบสูตรอาหารนั้น ซึ่งที่ข้างถุงอาหารจะบอกระดับโปรตีนหยาบ (crud protein)

Mineral แร่ธาตุถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Macromineral ประกอบด้วย แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม คลอไรด์ แมกนีเซียม และกำมะถัน อีกส่วนหนึ่งคือ Micromineral ประกอบด้วย ทองแดง ไอโอดีน เหล็ก เซลิเนียม โคบอลต์ แมงกานิส ฟลูออไรด์ และสังกะสี ซึ่งมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของม้าขอสรุปย่อนะครับ

แคลเซียม (Calcium) เกี่ยวข้องกับการสร้างกระดูก การแข็งตัวของเลือด ระบบประสาท และกล้ามเนื้อ อาการขาดแคลเซียมเกิดขึ้นได้ในหลายระบบ ฟอสฟอรัส (phosphorus) เกี่ยวข้องกับการสร้างและสลายกระดูก อัตราส่วนของแคลเซียมและฟอสฟอรัสควรจะอยู่ในอัตรา 1-5:1

ธาตุเหล็ก (Iron) เป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง เอนไซม์ และการขนส่งออกซิเจน หากขาดจะพบอาการโลหิตจาง อ่อนแรง

ทองแดง (Copper) เกี่ยวข้องกับการดูดซึมธาตุเหล็ก การสร้างฮีโมโกลบินบนเม็ดเลือดแดง และสีผิว
แมกนีเซียม (Magnesium) เกี่ยวข้องกับการสร้างกระดูก การทำงานของเอนไซม์ และการสร้างพลังงาน
โซเดียม (Sodium) โพแทสเซียม (potassium) และคลอไรด์ (chloride) มีความสำคัญในการธำรงดุลของร่างกาย สารน้ำระหว่างเซลล์ ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ

สังกะสี (Zinc) กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ อาการขาดที่สำคัญ ขนร่วง ผิวหนังแห้งแตก แผลหายช้า ระบบสืบพันธุ์บกพร่อง พฤติกรรมผิดปกติ และความผิดปกติของกระดูก

ไอโอดีน (Iodine) เกี่ยวกับการทำงานของต่อมไทรอยด์ หากขาดจะพบอาการคอพอก และความผิดปกติในลูกม้าแรกคลอด

แมงกานิส (Manganese) การสร้างกระดูก และข้อต่อ หากขาดจะพบปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ เป็นสัดช้า ความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำ แท้งลูก และกระดูกผิดรูปในลูกม้า

เซลิเนียม (Selenium) เกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อ หากขาดจะพบอาการกล้ามเนื้อฝ่อลีบ
Vitamins ในม้าวิตามินที่สามารถละลายในน้ำ (water soluble vitamins) ม้าสามารถได้รับอย่างเพียงพอจาก หญ้าและอาหารหยาบคุณภาพดี อีกส่วนหนึ่งคือวิตามินที่ละลายในไขมัน (fat soluble vitamins) ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค ซึ่งม้าจะต้องได้รับเพิ่มจากอาหารคุณภาพดีซึ่งมีความสำคัญ

วิตามินเอ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต และการมองเห็น หากขาดจะพบอาการผิดปกติของดวงตา อัตราการผสมติดต่ำ ความต้องการทางเพศลดลง อัณฑะฝ่อลีบ อัตราการเจริญเติบโตลดลง ปัญหาในระบบทางเดินหายใจ อาการทางระบบประสาท

วิตามินดี สามารถสังเคราะห์ได้จากแสงแดด เสริมการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส

วิตามีนอี ทำงานร่วมกับเซลิเนียม เกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อ และกล้ามเนื้อหัวใจ วิตามินเค สามารถสังเคราะห์ได้จากลำไส้ใหญ่ มีบทบาทในการแข็งตัวของเลือด หากขาดจะพบว่าเมื่อเกิดบาดแผลจะทำให้เลือดไม่แข็งตัว หยุดไหลช้า และเสียเลือดมาก

น้ำ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย โดยปกติม้าจะดื่มน้ำสะอาดประมาณ 30-40 ลิตรต่อวัน ในวันที่อากาศร้อนม้าอาจจะต้องการน้ำมากขึ้น หากขาดน้ำม้าอาจะเกิดอาการเสียดท้องแบบอัดแน่น

การประเมินอัตราการเจริญเติบโตของม้ามีความจำเป็นในการผิดม้าในระดับอุตสาหกรรมรมเพื่อต้องการม้าที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการนำไปทำม้ากีฬาซึ่งต้องการม้าสมรรถภาพสูง (High performance) และลดความสูญเสียระหว่างการเจริญเติบโต มีการบันทึกสัดส่วนของม้าเพื่อติดตามการเจริญเติบโตให้ตรงตามพันธุ์ การบันทึกเช่น น้ำหนัก ความสูง ความยาวลำตัว ขนาดข้อต่อหัวเข่า

การดูแลสุขภาพม้าช่วงวัยนี้จะเน้นการป้องกันโรคติดต่อด้วยการทำวัคซีน ให้ครอบคลุมเพื่อให้ม้ามีภูมิคุ้มโรค ในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคจำหน่ายเพียง วัคซีนป้องกันโรคขาอ่อน วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก วัคซีนป้องกันโรคหวัดติดต่อในม้า และวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่ใช่ว่าในบ้านเราจะไม่มีโรคติดต่ออื่นๆที่มีในโลกนี้ ผมขออธิบายสั้นๆเกี่ยวกับโรคติดต่อที่สำคัญในม้า ซึ่งท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  การทำวัคซีนจะต้องให้สัตวแพทย์เป็นผู้ทำให้

โรคขาอ่อนในม้าViral Rhinopneumonitis เป็นโรคติดต่อที่ทำให้เกิดอาการในกลุ่มต่างๆ คือ ระบบทางเดินหายใจ การแท้งลูก และอาการอัมพาตเกิดจากเชื้อไวรัส สาเหตุ เชื้อไวรัส Herpesvirus-1

โรคบาดทะยัก (Tetanus) สาเหตุเกิดจากเชื้อคลอสตริเดียม เททานิ (Clostridium tetani) ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณผิวดิน ในอุจจาระ สัตว์ที่ป่วยจะมีอาการขากรรไกรแข็ง หรือขาหลังทำงานไม่ได้ตามปกติ อุณหภูมิในร่างกายขึ้นสูง หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก สัตว์ที่ป่วยจะไม่ชอบแสงสว่างและเสียง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริวแข็งมากขึ้น อาจล้มลงและถึงตายได้ในที่สุด  

การฝึกม้าในช่วงวัยนี้จะเน้นการจับจูงบังคับความคุม เพื่อสะดวกต่อการจัดการ ม้าวัยนี้ควรจับจูงง่ายไม่ดื้อรั้น เพราะวัยนี้มีกำลังมาก และอาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่คนเลี้ยงได้ ม้าจะต้องถูกจับบังคับเพื่อให้ง่ายต่อการอาบน้ำ กราดแปรงขน ยกขา แคะกีบ ด้วยการผูกโยงด้วยการฝึกผูกม้าไว้กับเชือก อาจะใช้เชือกฟางผูกเป็นวงแล้วค่อยเอาเชือกจูงผูกอีกทีหนึ่ง ถ้าหากว่าม้าออกแรงดึงมากเชือกฟางก็จะขาดก่อนและม้าไม่ได้รับอันตราย

หลังจากผ่านช่วงวัยรุ่นแล้วม้าก็จะเข้าสู่วัยหนุ่ม ซึ่งโตเต็มวัยและพร้อมที่จะรับการฝึกเพื่อใช้งาน ผมเขียนรับใช้ท่านผู้อ่านเกี่ยวกับการฝึกม้ามาแล้ว 4 ตอน ตั้งแต่เริ่มต้น แรกเกิด หย่านม และวัยหนึ่งปี ซึ่งถ้าหากเป็นการเลี้ยงม้าจริงๆจะต้องใช้เวลากว่า 1 ปีเลยทีเดียว ซึ่งผมจะเรียนท่านว่า การเลี้ยงม้าอย่าใจร้อน เพียงเห็นว่าม้ายอมรับให้เราควบคุมเค้าได้ก็จะติดอานแล้วขี่เลย ซึ่งจะทำให้ได้ม้าที่ไม่ดีมาใช้อีกเกือบ 20 ปีเลยทีเดียว ตอนต่อไปเราจะเริ่มมาฝึกม้าเพื่อใช้งานกันเสียที สวัสดี

วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2557

Weaning หย่านม

Weaning
หย่านม by นายโก้



สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ฉบับที่แล้วเราได้เริ่มกระบวนการฝึกม้าตั้งแต่ลูกม้าแรกคลอด ลืมตาออกมาดูโลกก็จะเกิดกระบวนการการเรียนรู้ รับมนุษย์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของฝูง ผู้ฝึกม้าที่ดีก็จะเริ่มสานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับม้าให้พัฒนามากยิ่งขึ้น ม้าที่ผ่านกระบวนการนี้ตั้งแต่เล็กจะเป็นม้าที่ง่ายในกระบวนการฝึกขั้นสูงต่อๆไป ฉบับนี้เราจะมาหย่านมลูกม้า โดยทั่วไปถ้าไม่ทำการหย่านมลูกม้า ลูกม้าจะดูดนมแม่ม้าไปเรื่อยๆ จนแม่ม้ารำคาญแล้วไม่ให้ดูดนมจนกระทั่งลูกม้าหย่านมไปเอง แต่ในแม่ม้าบางตัวที่มีนำนมเลี้ยงลูกอาจจะยอมให้ลูกดูดนมไปตลอด บางตัวอาจจะเป็นปี บางตัวอาจจะดูดนมจนแม่ม้าคลอดลูกอีกตัวแล้วตัวพี่ก็ยังแย่งน้องดูดนมอยู่นั่นเอง

การหย่านมมีความสำคัญในการผลิตลูกม้าในระบบฟาร์ม แม่ม้าที่ให้นมลูกเป็นระยะเวลานานจะมีสุขภาพไม่แข็งแรงเสื่อมโทรม ผอมมาก มีภาวะทุพโภชนา ภาวะขาดสารอาหารอาจส่งผลต่องร่างการแม่ม้าหลายประการ เช่น ความสมบูรณ์พันธุ์ในแม่ม้าทำให้ให้เกิดปัญหาผสมติดยาก แม่ม้าไม่เป็นสัด (Heat) หรือเป็นสัดเงียบ ขาดสารอาหารโดยเฉพาะแร่ธาตุแคลเซี่ยม (Calcium) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการดำรงชีวิต เป็นสารสื่อประสาท สำคัญต่อการสร้างโครงสร้างร่างกายลูกม้าขณะอยู่ในท้องแม่ และเป็นสารประกอบที่สำคัญในน้ำนม ซึ่งแคลเซี่ยมที่นำมาใช้นั้นจะถูกสลายออกมาจากกระดูกของแม่ม้า ในระยะยาวจะทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน เราจึงต้องทำการหย่านมลูกม้าโดยทั่วไปเมื่อลูกม้าอายุ ประมาณ 5-7 เดือน

เรามาทบทวนกันก่อนที่จะเริ่มฝึกต่อไปนะครับ ลูกม้าเกิดใหม่ (New born) จะเทียบเท่าเด็กทารกจนกระทั่งอายุได้ 3 วัน หลังจากนี้ก็จะเป็นลูกม้า Foal ถ้าเป็นลูกม้าตัวผู้จะเรียกว่า Colt (โคลท์) จนกระทั่งเคยผสมพันธุ์เป็นพ่อม้าจะเรียกว่า Stallion (สเตเลี่ยน) หรือถ้าหากถูกตอนจะเรียกว่า Geld (เกลด์) และถ้าเป็นลูกม้าเพศเมียจะเรียก Filly (ฟิลลี่) และเมื่อตั้งท้องแล้วเป็นแม่ม้าจะเรียกว่า Mare (แมร์)

โปรดอย่าลืมว่าการฝึกม้านั้นคือ การฝึกให้ม้าทำแบบฝึกซ้ำๆให้ได้ดีก่อนที่จะเริ่มฝึกในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ถ้าการฝึกม้าเป็นไปแบบข้ามขั้น ม้าพวกนั้นจะสร้างปัญหาในการขี่หรือการใช้งานในอนาคต ปัญหานี้พบมากในม้าไทยซึ่งน้อยตัวที่จะมีโอกาสได้เข้ารับการฝึกอย่างถูกวิธี ถูกหลักและเป็นแบบแผนสากล อันจะทำให้ม้าเหล่านั้นมีศักยภาพในการใช้งานด้านต่างๆ ศักยภาพในด้านกีฬา หรือแม้แต่การเลี้ยงดูก็จะจัดการได้ง่าย แต่ม้าที่ถูกฝึกอย่างไม่สมบูรณ์เมื่อเปลี่ยนมือ เปลี่ยนคนขี่ก็จะสร้างปัญหาไม่เชื่อฟังคำสั่ง ดื้อ ขี่ไม่ได้ ยากต่อการควบคุมดูแล และเป็นปัญหาถูกขายทิ้งเรื่อยไป

คนที่เอาไม่อยู่หรือควบคุมไม่ได้ ก็จะโทษว่าม้าไทยนั้นดื้อด้าน ฝึกได้ไม่ดี โง่ ไม่มีความสามารถ แต่ความคิดเห็นของผู้เขียนคิดว่ากระบวนการฝึกเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ม้าเหล่านั้นมีความสามารถอย่างไร ถ้าท่านผู้อ่านได้เข้าไปดูสโมสรขี่ม้าต่างๆในกรุงเทพ จะเห็นว่าสโมสรขี่ม้าเหล่านี้ เอาม้าไทยตัวเล็กเข้าไปฝึก เพื่อไว้เป็นม้าชั้นเรียน หรือม้ากีฬากระโดดและศิลปบังคับม้า อย่างเช่นปัจจุบันมีรายการแข่งขันไทยแลนด์โพนี่แชมเปี้ยนชิพ (Thailand Pony Championships) โดยนำม้าที่มีความสูงไม่เกิน 14 แฮนด์ (เซนติเมตร) มาฝึกขี่กระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง ตามกฎกติกาสากล ซึ่งมีจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยสโมสรขี่ม้าต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทย ท่านที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชม ติดตามข่าวสารกีฬาม้าของสมาคมฯได้ตามเวบไซด์เลยครับ

กลับมาเข้าเรื่องฝึกม้าของเราต่อ เราจะเริ่มฝึกใส่ขลุม เมื่อลูกม้าโตอายุได้ประมาณ 3-4 เดือนแล้ว ต้องระมัดระวังอย่าให้ขลุมเกี่ยวติดกับอะไร ห้ามใส่ขลุมลูกม้าทิ้งไว้เด็ดขาด และขั้นต่อมาเมื่อลูกม้าอายุประมาณ 5 – 6 เดือนซึ่งจะใกล้ช่วงหย่านม (weaning) เราก็จะฝึกจับจูงลูกม้าโดยการฝึกในคอกวงกลม (Round pen) โดยขั้นแรกจะจูงฝึกลูกม้าด้วยการจูงตามแม่ม้าในคอกวงกลม ผมขอทบทวนการฝึกจากฉบับที่แล้วนะครับ

เราจะเริ่มฝึกจับจูงโดยใช้สายจูง (lead lop) ที่มีตะขอ (snap ling) และสายจูงผ้านุ่มไม่บาดมือยาวประมาณ 2 – 4 เมตร เริ่มต้นเอาแม่ม้าและลูกม้าเข้าสู่คอกวงกลม (round pen) ให้ผู้ช่วยฝึกจับแม่ม้าให้ยืนนิ่ง ใส่ขลุมให้ลูกม้าแล้วเกาะตะขอสายจูงที่ขลุม ถ้าหากลูกม้าดิ้นรนที่จะหนีจากสายจูง ห้ามปล่อยสายจูงให้เดินตามลูกม้าไปแต่ให้สายจูงตึงอยู่ตลอด เมื่อลูกม้าสงบลงแล้วค่อยๆจับสายจูงให้สั้นเข้า ปลอบด้วยเสียงต่ำอาจใช้คำว่า “ดี ดี ดี”ลูบมือตามแผงคอหลังและสะโพก เมื่อลูกม้ายอมแล้วออกคำสั่ง “หน้าเดิน” ให้ผู้ช่วยฝึกเริ่มจูงแม่ม้าออกเดินตามแนวของคอกวงกลม ลูกม้าก็จะเดินตามแม่และอาจจะเริ่มตื่นและดิ้นรนอีกครั้ง ผู้ฝึกจะต้องค่อยๆปลอบและเดินตามไป เมื่อลูกม้าสงบลงจึงออกคำสั่ง “หยุด” (ลากเสียงยาว) ให้ลูกม้ายืนนิ่งประมาณ 1 นาที และจึงออกคำสั่งให้เดินทำอย่างนี้สลับไป 4 – 5 รอบแล้วจึงจูงแม่ม้าและลูกม้าออกจากคอกวงกลม กลับคอกพัก

การฝึกจูงจะต้องมีการฝึกซ้ำจนกระทั่งลูกม้ายอมรับคำสั่งจากผู้ฝึกไม่ได้เดินตามแม่แต่เพียงอย่างเดียว ทำการฝึกโดยนำแม่ม้าและลูกม้าเข้าสู่คอกวงกลม เริ่มต้นจากการจูงเดินโดยให้แม่ม้าเดินนำ 2 – 3 รอบ แล้ว ให้ผู้ช่วยนำแม่ม้าเข้าสู่งกลางคอกวงกลมแล้วหยุดรอ แต่ผู้ฝึกให้จูงลูกม้าตามแนวของคอกวงกลมต่อไป ถ้าลูกม้าไม่ยอมจึงหยุด แล้วให้ผู้ช่วยนำแม่ม้าจูงเดินนำต่อไป และเริ่มการฝึกใหม่จนกว่าลูกม้าจะยอมทำตามคำสั่งเรา ขั้นตอนนี้ระยะเวลาการฝึกประมาณ 4-6 สัปดาห์

เมื่อลูกม้าอายุได้ 6 เดือนย่างเข้าสู่เดือนที่ 7 ก็จะเข้าสู่ช่วงการหย่านม การหย่านมลูกม้าถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิตลูกม้าเลยทีเดียว วันที่เราทำการหย่านมลูกม้าวันเดียวนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ลูกม้าทั้งทางด้านสรีระวิทยา (Physiological) ด้านจิตใจ (Mental) และพฤติกรรม (Behavior) อันมีผลกระทบต่อลูกม้าโดยตรง ทางสรีระวิทยาที่ชัดเจนได้แก่ระบบทางเดินอาหาร ลูกม้าที่เคยได้รับโปรตีนคุณภาพสูงจากน้ำนมแม่ รวมถึงไขมัน คาโบไฮเดรท และน้ำ โดยทั่วไปลูกม้าที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างปกติจะมีพฤติกรรมการเลียนแบบการกินอาหารของแม่ม้า และเรียนรู้ที่จะกินอาหารก่อนจะถึงวัยหย่านม ในช่วงนี้อาหารที่เหมาะสมกับลูกม้าได้แก่อาหารม้าสำเร็จรูปคุณภาพดี มีโปรตีนไม่เกินร้อยละ 16 ซึ่งจะใช้เลี้ยงลูกม้าจนถึงอายุ 2 ปี

ทางด้านจิตใจจะเห็นได้ชัดว่าเมื่อแยกแม่ม้าออกจากลูกไปแล้วจะมีการร้องเรียกหาทั้งแม่ม้าและลูกม้า ซึ่งเราจะแก้ไขด้วยวิธีการฝึก ทางด้านพฤติกรรมลูกม้าอาจจะแสดงอาการทางประสาทในช่วงแรก เช่น เดินวน ยืนโยกตัวไปมา หรือกัดแทะคอก เราก็จะแก้ไขด้วยการเพิ่มกิจกรรมให้ลูกม้าเบี่ยงเบนความสนใจ

เมื่อถึงวันที่เราจะการหย่านมเราจะใช้วิธีการแยกแม่ม้าออกจากลูกม้า เราจะต้องเตรียมคอกว่างให้แม่ม้าอยู่ห่างจากคอกของลูกม้าหรืออาจจะเป็นคอกที่ไม่สามารถมองเห็นกัน ด้วยการฝึกจูงในคอกวงกลม ปฏิบัติเช่นเดิมด้วยการนำแม่ม้าและลูกม้าเข้าสู่คอกวงกลมแล้วฝึกจูงลูกม้าโดยให้แม่ม้านำ เมื่อลูกม้ามีความสนใจในการฝึกและยอมรับคำสั่งดีแล้ว ให้ผู้ช่วยฝึกจูงแม่ม้าออกจากคอกวงกลมกลับไปสู่คอกพักคอกใหม่ที่เตรียมไว้ ในหนึ่งถึงสามวันแรกห้ามนำแม่ม้าและลูกม้าพบกันโดยเด็ดขาด หรือนำมาปล่อยรวมกันเพราะจะทำให้การหย่านมไม่ประสพความสำเร็จ หลังจากหย่านมแล้วประมาณหนึ่งสัปดาห์จึงสามารถปล่อยรวมฝูงได้

แล้วทำการฝึกลูกม้าเดินในคอกวงกลม โดยใช้คำสั่ง “หน้าเดิน” กระตุกสายจูงเล็กน้อยกระตุ้นให้ลูกม้าเดินตามแนวของคอกวงกลม และใช้คำสั่ง “แถวหยุด” รั้งเชือกจูงเมื่อต้องการให้ลูกม้าหยุด เราจะฝึกลูกม้าจูงเดินหลายๆรอบ จนลูกม้ามีสมาธิและความตั้งใจในการฝึกอาจจะใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที ลูกม้าจะต้องจูงได้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา หลังจากเสร็จการฝึกแล้วควรจูงลูกม้าเข้าสู่คอก

ลูกม้าที่หย่านมแล้วในช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรจะเลี้ยงแบบปล่อยแปลงในแปลงปล่อยที่กว้างขวางและปลอดภัย เพื่อที่ลูกม้าสามารถวิ่งเล่นออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรง มีการปล่อยรวมฝูงม้ารุ่นด้วยกันทำให้ม้ามีพัฒนาการทางสังคมที่ดี ม้าช่วงอายุนี้ต้องการอาหารคุณภาพดีเพื่อการพัฒนาโครงสร้างร่างกาย และหญ้าอย่างพอเพียง ในแปลงปล่อยควรมีภาชนะที่แข็งแรงใส่น้ำสะอาดให้ม้าด้วย จนถึงม้ารุ่นอายุ 2 ปี ก่อนที่จะนำเข้าสู่ระบบการฝึกเพื่อที่จะขี่ต่อไป