Horse Selection: การเลือกม้าใช้งาน by นายโก้
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ความเดิมตอนที่แล้วเรามาคุยกันเรื่องม้ารุ่น (Yearling) ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีการเจริญเติบโตของโครงสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ โดยทั่วไปช่วงอายุนี้ก็จะเป็นจุดวิกฤตหนึ่งของม้า เพราะม้าที่จะเป็นม้าที่มีความสามารถดีในทางกีฬาและใช้งานจะต้องผ่านช่วงวัยนี้อย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพร่างกาย เจ็บป่วย หรือสุภาพจิตถูกทารุณกรรม ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการฝึกใช้งาน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลา ความสามารถ ความพยายาม และเงิน
ในประเทศที่มีประชากรม้ามากๆ ม้าที่จะถูกคัดเลือกไปใช้งานเมื่ออายุเข้า 2-3 ปี ม้าที่ไม่ผ่านการคัดเลือกจะถูกส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์ การคัดเลือกนี้เป็นเหตุผลหนึ่งของการพัฒนาสายพันธุ์ม้า (Horse selection by human) ทำให้ประชากรของม้าที่เหลืออยู่เป็นม้าที่มีลักษณะดี ทำให้ความเบี่ยงเบนมาตรฐานของพันธุกรรมต่ำ ม้ารุ่นหลังที่เกิดมาก็จะมีลักษณะดีเด่นยิ่งๆขึ้นไป ในธรรมชาติก็เช่นเดียวกัน ม้าป่าก็จะถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural selection) ม้าที่เกิดมาไม่แข็งแรงสมบูรณ์ก็จะมีโอกาสรอดชีวิตในธรรมชาติน้อย และสูญพันธุ์ไปในที่สุด
ในความคิดเห็นของผู้เขียน ประชากรม้าในประเทศไทยยังมีน้อย การคัดเลือกที่เกิดขึ้นจึงยังไม่มีความเข้มข้น หรือมีตัวเลือกน้อยนั่นเอง เราไม่สามารถคัดทิ้งม้าเข้าโรงฆ่าสัตว์ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ผสมพันธุ์ม้า (Horse Breeder) สามารถร่วมกันคัดเลือกลักษณะม้าที่ดีทั้งพ่อม้าและแม่ม้าให้สามารถขยายพันธุ์ได้ ส่วนม้าเพศผู้ที่ลักษณะไม่ดีเราก็ควรทำการตอน (Castration) ทำหมันเพื่อไม่ให้ม้าตัวนั้นสืบต่อลักษณะที่เลวต่อไปในอนาคต
ในการคัดเลือกม้าที่จะนำเสนอในฉบับนี้เป็นแนวทางการเลือกม้าในระบบสากล โดยดูจากโครงสร้างกายวิภาคของม้า สรีระการทำงานในระบบต่างๆของร่างกาย เพื่อเป็นพื้นฐานแนวทางในการคัดเลือกม้าของผู้ผสมพันธุ์ม้า และผู้เลี้ยงม้าในประเทศไทย ทั่วๆไป ไม่ได้จำเพาะเจาะจงในสายพันธุ์ใดโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีมาตรฐานของสายพันธุ์กำกับในอีกระดับหนึ่ง หลักใหญ่ใจความคือ ม้านั้นจะต้อง ไม่พิการ ไม่มีปัญหาทางระบบประสาท ไม่มีปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ และไม่เป็นโรคติดต่อ เพราะม้าเหล่านี้ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
ลักษณะทั่วไปทางกายภาพ (General appearance) เมื่อเราจะมองม้าซักตัวว่าม้าตัวนั้นสมส่วนหรือไม่ เราจะจับม้าลงไปในกล่อง ไม่ใช่กล่องจริงๆนะ โดยเราจะสร้างเส้นสี่เหลี่ยมจัตุรัสสมมุติขึ้นมาจากภาพ จะเห็นเส้นสีแดงเป็นเส้นสมมุติ (Ideal) ที่เราต้องการ เริ่มมองจากขาหน้าความสูงจากพื้นกีบจนถึงตะโหนกม้าจะต้องยาวเท่ากับความยาวลำตัววัดจากหัวไหล่ไปถึงปลายสุดแก้มก้น และท้ายจุดสูงสุดของสะโพกจนถึงปลายกีบ แต่ความจริงม้าตัวนี้มีความยาวลำตัวไม่สัมพันธ์กับความสูงตามเส้นสีขาว (Actual) ในภาพเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ลำตัว (Body or barrel) ม้าที่ดีควรจะมีหลังที่ตรง บ่งบอกถึงการรับน้ำหนักจากผู้ขี่หรือใช้งาน ม้าที่มีอายุมากขึ้นหลังจะแอ่นลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อเราเลือกม้าอายุน้อยแนวของเส้นหลังควรจะเป็นเส้นตรง ความลึกของลำตัวบ่งบอกถึงความอดทน (stamina) เพราะม้ามีกระดูกซี่โครงมากถึง 18 คู่ ที่บรรจุปอดไว้ ม้าที่สุขภาพดีท้องจะไม่หย่อนหรือป่องออกมาจากแนวลำตัวมากนัก ทำให้ผมนึกถึงคำโบราณเกี่ยวกับการเลือกสัตว์กีบไว้ว่า “หลังกุ้ง พุงปลากด” พอจะนึกภาพออก คงไม่ต้องอธิบายนะครับ
มุมของหัวไหล่ (Shoulder joint) เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญในการเคลื่อนที่ของม้า ที่ผู้ขี่ (Riders) ผู้ผสมพันธุ์ (breeders) แม้กระทั่งผู้ฝึกสอน (trainers) มักจะมองข้ามไป และทำให้เกิดปัญหาม้าขากระเผลก (lameness) โดยจะไปมุ่งเน้นที่ขาส่วนล่าง (lower limb) มากกว่า ในจินตนาการมุมของของหัวไหล่กระดูกต้นแขน (humerus) ทำมุมต่อกระดูกสะบัก (scapula) เป็นมุม 45 องศา แต่อาจจะมีความแตกต่างของสายพันธุ์
ขาส่วนล่าง (Lower limb) โดยดูจากข้อศอก (elbow joint) เป็นแนวเส้นตรงลงมาจนถึงข้อเท้า (pastern joint) ม้าที่มีลักษณะผิดปกติจะส่งผลในการใช้งานในระยะยาว สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ม้าเหล่านี้ไม่สามารถเป็นนักกีฬาได้ (performance horse) หรือแม้แต่การนำไปเป็นม้าขี่ใช้งาน (working horse) ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายแก่ตัวม้าและผู้ขี่ได้
แนวการยืนในท่าปกติของม้า ทั้งขาหน้าและขาหลังเมื่อวัดจากแนวดิ่งควรจะต้องทำมุมตั้งฉากกับพื้น จากภาพแสดงให้เห็นเส้นจินตนาการที่ต้องการสีแดง และเส้นสีขาวซึ่งบ่งชี้ว่าผิดปกติ
มุมของกับขาหน้าจะต้องทำมุม 45 องศา และขาหลัง 50 องศากับพื้น ส่งผลต่อมุมของข้อเท้า (Pastern joint) มีผลต่อการก้าวย่าง (gait) ของม้าโดยตรง ซึ่งผมเคยเขียนรับใช้ท่านแล้วในเรื่องของกีบเท้าม้าในเล่มที่ผ่านๆมา
เมื่อมองจากด้านหน้า และด้านหลังเมื่อม้ายืนปกติจะต้องทิ้งดิ่งทำมุมตั้งฉากกับพื้นดิน และสมมาตรระหว่างด้านซ้ายและขวา ม้าที่ขาบิดเข้าหรือแบะออกจะทำให้มีความผิดปกติเมื่อเคลื่อนที่
จากภาพแสดงความผิดปกติของขาม้าในท่ายืนปกติ โดยปลายกีบแบะออกไม่มีความสมมาตร ม้าเหล่านี้จะสังเกตพบรอยแผลเนื่องจากการวิ่งแล้วขากระทบกัน ม้าที่พบว่าข้อบวม (Edema) สามารถบ่งชี้ถึงความผิดปกติของม้าได้มากมายหลายสาเหตุและอาจจะทำให้เกิดความรุนแรงตามมา
เมื่อเราสำรวจตัวม้าได้ถ้วนทั่วแล้ว สิ่งสุดท้ายก่อนตัดสินใจนำม้าตัวนั้นมาเข้าสู่การฝึกคือ การตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์ ซึ่งเป็นกระบวนการทั่วไปในการซื้อขายม้าในต่างประเทศ หากสัตวแพทย์มีความสงสัยอาจจะส่งวินิจฉัยเพิ่มเพิ่มด้วยการถ่ายภาพรังสี (X-ray) หรือ อัลตราซาวด์ (ultrasound) ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และที่ขาดไม่ได้ม้าควรจะได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และตรวจโรคติดต่อ
เมื่อได้ม้าตรงตามวัตถุประสงค์แล้วเราก็จะเข้าสู่กระบวนการฝึกกัน แต่ฉบับนี้หน้ากระดาษหมดแล้วเพราะมีรูปเยอะหน่อย เอาไว้ติดตามต่อในฉบับหน้านะครับ สวัสดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น