อาหารม้า
นายโก้
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในการเลี้ยงม้า จากฉบับที่แล้วเราได้เตรียมคอกม้า เพื่อให้ม้าของเรามีบ้านใหม่ที่เหมาะสม อยู่แล้วมีความสุขสบาย ฉบับนี้เรามาเตรียมความพร้อมด้านอาหารให้ม้าของเรา เพื่อให้ม้ามีสุขภาพที่แข็งแรง
อาหารม้ามีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะม้าเป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยว มีกระเพาะอาหารขนาดเล็กผนังบาง ซึ่งมีหน้าที่ในการย่อยอาหารประเภทแป้ง โดยอาหารจะผ่านกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็วประมาณ ครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง มีอาหารส่วนน้อยเท่านั้นที่ย่อยได้ในกระเพาะอาหาร แล้วอาหารจะถูกดันผ่านเข้าในส่วนของลำไส้เล็ก (Small intestine) ซึ่งมีความยาวประมาณ 25-30 เมตร อาหารที่ผ่านมาจะถูกย่อยและดูดซึมที่ลำไส้ส่วนนี้ แต่อาหารหยาบไม่สามารถย่อยได้ในลำไส้เล็ก จะถูกดันต่อเข้าไปในลำไส้ส่วนไส้ตัน (cecum) เป็นรอยต่อของลำไส้เล็ก และสำไส้ใหญ่ เหมือนไส้ติ่งในคน แต่มีลักษณะเป็นถุงใหญ่ปลายตัน จะเกิดขบวนการหมักย่อยด้วยจุลินทรีย์ แต่มีประสิทธิภาพในการย่อยได้ต่ำเพียงร้อยละ 30-40 ต่างจากในโคกระบือที่สามารถย่อยอาหารหยาบได้ถึงร้อยละ 70 ในกระเพาะหมัก
อาหารหยาบ เป็นอาหารหลักของม้าอัน มีความจำเป็นในระบบการย่อยอาหาร ให้ดำเนินกิจกรรมไปได้อย่างปกติ แต่ความสามารถในการย่อยอาหารหยาบของม้าได้ต่ำ จึงควรมีการจัดการอาหารหยาบที่ดีให้แก่ม้าทั้งในด้านคุณภาพ และปริมาณ การให้อาหารหยาบไม่เพียงพอสังเกตได้จากการ แทะรั้ว หรือผนังคอก
ในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยนั้นอยู่ในเขตร้อนชื้น (Tropical) พืชอาหารสัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมีคุณภาพต่ำไม่พอเพียงต่อการเจริญเติบโตและการดำรงชีวิตของม้า ระดับโปรตีนและแร่ธาตุต่ำแล้ว ยังมีสารที่ยับยั้งการดูดซึมแร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่ Oxalate phytate ซึ่งจะยัยยั้งการดูดซึมแคลเซียม (Calcium) และฟอสฟอรัส (Phosphorus)
พืชตระกูลถั่ว ซึ่งมีโปรตีนสูงแต่ม้ากินมากไม่ได้ เพราะจะเกิดแก๊สและกรดมากเกินไป จึงไม่ควรให้พืชตระกูลถั่วเพียงอย่างเดียว ฟางและหญ้าแห้งมีคุณค่าอาหารต่ำมาก การเกิดการเสียดในประเทศไทย มักเกิดการเสียดชนิดอัดแน่น เนื่องจากการให้อาหารหยาบอย่างผิดวิธี จะต้องมีน้ำให้ม้าดื่มกินอย่างเพียงพอ สะอาดพอที่คนจะสามารถดื่มได้
เราจึงต้องเสริมอาหารข้นให้เพียงพอตามความต้องการอาหารม้าที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมี 2 ลักษณะ คือ อาหารเม็ดสำเร็จรูป และอาหารผสมเอง อาหารเม็ดสำเร็จรูปผลิตโดยบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ต่างๆ มีมากมายหลายสูตร มีข้อดีในการควบคุมการผลิตที่จะต้องได้มาตรฐานอาหารสัตว์ตามที่กฎหมายกำหนด อาหารม้าสำเร็จรูปอัดเม็ด (Pellet) มีฝุ่นละอองน้อยลดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจม้า การจัดการง่าย ราคาขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ และสารเสริมอาหารอื่นๆ
แต่ยังมีคอกม้าอีกมากที่ใช้อาหารม้าผสมเอง ซึ่งสามารถจัดสูตรอาหารตามความต้องการ ตามแต่ลักษณะการออกกำลังของม้า โดยการเลือกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีในท้องถิ่น มาประกอบสูตรอาหารม้า ซึ่งจะต้องมีความรู้ในด้านโภชนศาสตร์อาหารของม้าด้วย เพื่ออาหารที่ผสมขึ้นม้านั้นจะได้ประโยชน์ตรงตามความต้องการ จะต้องมีการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาประกอบสูตรอาหาร การเสริมแร่ธาตุและไวตามินในระดับที่เหมาะสมมีความสำคัญอย่างยิ่ง
การให้อาหารข้นมากเกินไปในแต่ละมื้อ กระเพาะอาหารจะย่อยไม่ทัน ถ้าหากอาหารข้นถูกดันเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ จะเกิดการเสียสมดุลย์ของจุลินทรีย์ ทำให้จุลินทรีย์ตายและปล่อยสารพิษออกมา แล้วถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษได้
ม้าโตเต็มวัยมีความต้องการโปรตีน 10-12% ถ้าเราให้อาหารม้าที่มีโปรตีนสูงเมื่อย่อยแล้วจะได้กรดอะมิโนในปริมาณสูงเกินปริมาณต้องการ ร่างกายจะต้องทำงานหนักในการขับกรดอะมิโนส่วนเกินออกทางอุจจาระ ทำให้เกิดภาวะกรดในกระแสเลือด หัวใจเต้นเร็ว ปริมาณแอมโมเนียในกระแสเลือดสูง มีผลเสียต่อตับและไต ในม้าที่ยังโตไม่เต็มที่ การให้อาหารโปรตีนสูงเป็นการเร่งการเจริญเติบโตเกินไป อาจเกิดปัญหากระดูกผิดรูป (Developmental Orthopedic Disease) แสดงอากสารขาบิดงอ ข้อต่อยึด
หญ้าและอาหารที่ให้บนพื้นดิน หรือม้าเก็บกินอาหารตามพื้น มีทรายปะปนเข้าไปในอาหาร อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียดจากทราย (Sand colic) ตามมาได้ ซึ่งตรวจได้โดยนำมูลม้าใส่ถุงพลาสติกใสใส่น้ำให้ละลาย แขวนทิ้งไว้ดูว่ามีทรายตกตะกอนหรือไม่ ถ้ามีมาควรตามสัตวแพทย์เพื่อทำการไก้ไขเอาทรายออกจากลำไส้
ควรมีการสังเกตุการถ่ายมูลของม้าทุกวัน เพื่อเป็นการตรวจสอบสุขภาพม้าได้ทางหนึ่ง มูลม้าที่สุขภาพดี ต้องทีลักษณะเกาะกันเป็นก้อน มีความชื้น นิ่ม เมื่อตกกระทบพื้นแล้วจะแตกออกแบ่งครึ่ง
ลักษณะเหลวเกินไป แสดงว่าเริ่มมีการดูดซึมอาหารที่ผิดปกติ และอาจจะเกิดการท้องเสียตามมา ลักษณะแห้งแข็งเป็นก้อน ตกพื้นไม่แตก เนื่องจากม้ากินอาหารหยาบมาก และกินน้ำน้อยเกินไป อาจจะทำให้เกิดการเสียดท้องตามมา ลักษณะแข็งมีเมือกคล้อยน้ำนมปนมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผนังบุลำไส้ (Mucous membrane) แสดงว่าลำไส้เริ่มมีการอุดตัน เคลื่อนตัวได้ช้า เกิดการเสียดชนิดอัดแน่นตามมา
Line: nineco
Email: nineco@live.com
Facebook.com/9cohorsemanship
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น