วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

Horse Feeding

อาหารม้า

นายโก้


สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในการเลี้ยงม้า จากฉบับที่แล้วเราได้เตรียมคอกม้า เพื่อให้ม้าของเรามีบ้านใหม่ที่เหมาะสม อยู่แล้วมีความสุขสบาย ฉบับนี้เรามาเตรียมความพร้อมด้านอาหารให้ม้าของเรา เพื่อให้ม้ามีสุขภาพที่แข็งแรง

อาหารม้ามีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะม้าเป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยว มีกระเพาะอาหารขนาดเล็กผนังบาง ซึ่งมีหน้าที่ในการย่อยอาหารประเภทแป้ง โดยอาหารจะผ่านกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็วประมาณ ครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง มีอาหารส่วนน้อยเท่านั้นที่ย่อยได้ในกระเพาะอาหาร แล้วอาหารจะถูกดันผ่านเข้าในส่วนของลำไส้เล็ก (Small intestine) ซึ่งมีความยาวประมาณ 25-30 เมตร อาหารที่ผ่านมาจะถูกย่อยและดูดซึมที่ลำไส้ส่วนนี้ แต่อาหารหยาบไม่สามารถย่อยได้ในลำไส้เล็ก จะถูกดันต่อเข้าไปในลำไส้ส่วนไส้ตัน (cecum) เป็นรอยต่อของลำไส้เล็ก และสำไส้ใหญ่ เหมือนไส้ติ่งในคน แต่มีลักษณะเป็นถุงใหญ่ปลายตัน จะเกิดขบวนการหมักย่อยด้วยจุลินทรีย์ แต่มีประสิทธิภาพในการย่อยได้ต่ำเพียงร้อยละ 30-40 ต่างจากในโคกระบือที่สามารถย่อยอาหารหยาบได้ถึงร้อยละ 70 ในกระเพาะหมัก

อาหารหยาบ เป็นอาหารหลักของม้าอัน มีความจำเป็นในระบบการย่อยอาหาร ให้ดำเนินกิจกรรมไปได้อย่างปกติ แต่ความสามารถในการย่อยอาหารหยาบของม้าได้ต่ำ จึงควรมีการจัดการอาหารหยาบที่ดีให้แก่ม้าทั้งในด้านคุณภาพ และปริมาณ การให้อาหารหยาบไม่เพียงพอสังเกตได้จากการ แทะรั้ว หรือผนังคอก

ในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยนั้นอยู่ในเขตร้อนชื้น (Tropical) พืชอาหารสัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมีคุณภาพต่ำไม่พอเพียงต่อการเจริญเติบโตและการดำรงชีวิตของม้า ระดับโปรตีนและแร่ธาตุต่ำแล้ว ยังมีสารที่ยับยั้งการดูดซึมแร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่ Oxalate phytate ซึ่งจะยัยยั้งการดูดซึมแคลเซียม (Calcium) และฟอสฟอรัส (Phosphorus)



พืชตระกูลถั่ว ซึ่งมีโปรตีนสูงแต่ม้ากินมากไม่ได้ เพราะจะเกิดแก๊สและกรดมากเกินไป จึงไม่ควรให้พืชตระกูลถั่วเพียงอย่างเดียว ฟางและหญ้าแห้งมีคุณค่าอาหารต่ำมาก การเกิดการเสียดในประเทศไทย มักเกิดการเสียดชนิดอัดแน่น เนื่องจากการให้อาหารหยาบอย่างผิดวิธี จะต้องมีน้ำให้ม้าดื่มกินอย่างเพียงพอ สะอาดพอที่คนจะสามารถดื่มได้

เราจึงต้องเสริมอาหารข้นให้เพียงพอตามความต้องการอาหารม้าที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมี 2 ลักษณะ คือ อาหารเม็ดสำเร็จรูป และอาหารผสมเอง อาหารเม็ดสำเร็จรูปผลิตโดยบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ต่างๆ มีมากมายหลายสูตร มีข้อดีในการควบคุมการผลิตที่จะต้องได้มาตรฐานอาหารสัตว์ตามที่กฎหมายกำหนด อาหารม้าสำเร็จรูปอัดเม็ด (Pellet) มีฝุ่นละอองน้อยลดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจม้า การจัดการง่าย ราคาขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ และสารเสริมอาหารอื่นๆ

แต่ยังมีคอกม้าอีกมากที่ใช้อาหารม้าผสมเอง ซึ่งสามารถจัดสูตรอาหารตามความต้องการ ตามแต่ลักษณะการออกกำลังของม้า โดยการเลือกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีในท้องถิ่น มาประกอบสูตรอาหารม้า ซึ่งจะต้องมีความรู้ในด้านโภชนศาสตร์อาหารของม้าด้วย เพื่ออาหารที่ผสมขึ้นม้านั้นจะได้ประโยชน์ตรงตามความต้องการ จะต้องมีการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาประกอบสูตรอาหาร การเสริมแร่ธาตุและไวตามินในระดับที่เหมาะสมมีความสำคัญอย่างยิ่ง

การให้อาหารข้นมากเกินไปในแต่ละมื้อ กระเพาะอาหารจะย่อยไม่ทัน ถ้าหากอาหารข้นถูกดันเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ จะเกิดการเสียสมดุลย์ของจุลินทรีย์ ทำให้จุลินทรีย์ตายและปล่อยสารพิษออกมา แล้วถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษได้

ม้าโตเต็มวัยมีความต้องการโปรตีน 10-12% ถ้าเราให้อาหารม้าที่มีโปรตีนสูงเมื่อย่อยแล้วจะได้กรดอะมิโนในปริมาณสูงเกินปริมาณต้องการ ร่างกายจะต้องทำงานหนักในการขับกรดอะมิโนส่วนเกินออกทางอุจจาระ ทำให้เกิดภาวะกรดในกระแสเลือด หัวใจเต้นเร็ว ปริมาณแอมโมเนียในกระแสเลือดสูง มีผลเสียต่อตับและไต ในม้าที่ยังโตไม่เต็มที่ การให้อาหารโปรตีนสูงเป็นการเร่งการเจริญเติบโตเกินไป อาจเกิดปัญหากระดูกผิดรูป (Developmental Orthopedic Disease) แสดงอากสารขาบิดงอ ข้อต่อยึด

หญ้าและอาหารที่ให้บนพื้นดิน หรือม้าเก็บกินอาหารตามพื้น มีทรายปะปนเข้าไปในอาหาร อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียดจากทราย (Sand colic) ตามมาได้ ซึ่งตรวจได้โดยนำมูลม้าใส่ถุงพลาสติกใสใส่น้ำให้ละลาย แขวนทิ้งไว้ดูว่ามีทรายตกตะกอนหรือไม่ ถ้ามีมาควรตามสัตวแพทย์เพื่อทำการไก้ไขเอาทรายออกจากลำไส้

ควรมีการสังเกตุการถ่ายมูลของม้าทุกวัน เพื่อเป็นการตรวจสอบสุขภาพม้าได้ทางหนึ่ง มูลม้าที่สุขภาพดี ต้องทีลักษณะเกาะกันเป็นก้อน มีความชื้น นิ่ม เมื่อตกกระทบพื้นแล้วจะแตกออกแบ่งครึ่ง

ลักษณะเหลวเกินไป แสดงว่าเริ่มมีการดูดซึมอาหารที่ผิดปกติ และอาจจะเกิดการท้องเสียตามมา ลักษณะแห้งแข็งเป็นก้อน ตกพื้นไม่แตก เนื่องจากม้ากินอาหารหยาบมาก และกินน้ำน้อยเกินไป อาจจะทำให้เกิดการเสียดท้องตามมา ลักษณะแข็งมีเมือกคล้อยน้ำนมปนมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผนังบุลำไส้ (Mucous membrane) แสดงว่าลำไส้เริ่มมีการอุดตัน เคลื่อนตัวได้ช้า เกิดการเสียดชนิดอัดแน่นตามมา

Line: nineco
Email: nineco@live.com
Facebook.com/9cohorsemanship

วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

No Hoof No Horse “กีบเท้าม้า”

ความสำคัญของกีบม้าไม่ใช่แค่เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น กีบม้ายังมีหน้าที่รองรับน้ำหนักตัวของม้าตลอดเวลา และทำหน้าที่หนักขึ้นเมื่อม้าเคลื่อนไหวขณะทำกิจกรรมต่างๆ แม้กระทั่งการขี่ม้าน้ำหนักตัวของผู้ขี่ก็จะตกลงไปที่กีบม้าด้วยเช่นกัน กีบม้าที่ดีแข็งแรงมั่นคงนั้น ก็จะทำให้ม้ามีความสามารถในการรับน้ำหนักขณะที่ม้าทำกิจกรรมต่างๆได้ดี ในทางกลับกันกีบม้าที่ไม่แข็งแรงก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของม้าโดยตรง

กีบม้าอยู่บริเวณปลายสุดของขา มีเล็บหรือ ผนังกีบ (Hoof wall) ด้านนอกมีความหนาแข็งแรงห่อหุ้มป้องกันเนื้อเยื่อภายใน จากความร้อน ความเย็น และเชื้อโรค และยืดหยุ่นบานขยายออกเพื่อรองรับแรงกระแทก ผนังกีบ จึงเป็นส่วนที่ช่วยในการทรงตัว รองรับน้ำหนักตัว และแรงกระแทกเมื่อม้าเคลื่อนไหว

ผนังกีบ และเนื้อเยื่ออ่อนภายในของกีบเจริญลงมาจากส่วนของไรกีบ (Coronet) กีบของม้าส่วนใหญ่จะเป็นสีดำ ถ้าผิวหนังบริเวณไรกีบเป็นสีชมพูกีบที่งอกต่ออกมาก็จะเป็นสีขาว สีของผนังกีบไม่ว่าจะเป็นสีขาวหรือดำ ต่างก็มีความแข็งแรงเท่ากัน

ผนังกีบด้านนอกสุดมีเยื่อไขมัน (periople) ห่อหุ้มไว้ซึ่งจะทำให้ผนังกีบรักษาความชุ่มชื้นไม่แห้งแตก ทำให้กีบมีความยืดหยุ่น การปล่อยปละละเลยไม่สนใจกีบม้า เอากระดาษทรายหรือตะไบด้านนอกของผนังกีบ จะทำให้ส่วนเยื่อหุ้มนี้หลุดลอกออก กีบม้าจะแห้งแตก เป็นโพรง ติดเชื้อได้ง่าย เราจึงควรดูแลกีบม้าโดยใช้น้ำมันทากีบ (hoof oil) ทาภายนอกและใต้พื้นกีบหลังจากแคะล้างทำความสะอาดกีบม้าแล้ว

การเจริญลงมาของกีบที่ปกติจะงอกยาวลงมาเท่าๆกัน ลักษณะเรียบเป็นมัน ถ้าผนังที่งอกลงมามีลักษณะเป็นวง ขรุขระ ไม่เรียบเท่ากัน เกิดจากการเจริญไม่เท่ากันของกีบ เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยน อาหารที่ให้มีโภชนาการที่ไม่เหมาะสม มากหรือน้อยเกินไป การให้อาหารที่มีโปรตีนสูงทำให้กีบงอกมากเกินไป ลักษณะดังกล่าวอาจจะเป็นสัญญาณของไข้ลงกีบ (Laminitis) ได้
เมื่อเรายกกีบหงายขึ้นมาดูเราสามารถแบ่งผนังกีบม้าออกเป็นหลายส่วนปลายกีบ (Toe) ด้านข้างของผนังกีบส่วนที่กว้าที่สุด (quarter) ด้านหลังจะเป็นส้นกีบ (heal) และสันรอยต่อของส้นกีบ (bar) จะเห็นรอยสีขาววิ่งรอบๆกีบถัดจากชั้นผนังกีบเข้ามา เราเรียกทับศัพท์ว่า ไวท์ไลน์ (White line) ซึ่งเป็นเส้นกั้นระหว่างผนังกีบซึ่งอยู่ด้านนอกและเนื้อเยื่ออ่อนภายใน เป็นตำแหน่งที่จะสังเกตในการตีตะปูยึดเกือกม้าเข้ากับผนังกีบ ซึ่งจะต้องตีนอกไวท์ไลน์เสมอ

ถัดจากผนังกีบและไวท์ไลน์เข้ามาก็จะเป็นส่วนของพื้นกีบ (Sole) เป็นส่วนที่อ่อนนุ่ม บางข้างใต้มีเส้นเลือดและเส้นประสาทมาเลี้ยงมาก ไม่มีหน้าที่รับน้ำหนัก หากเหยียบก้อนหิน ตะปู หรือการใส่เกือกที่ผิดมีการกดน้ำหนัก ลงส่วนของพื้นกีบก็จะเกิดการบอบช้ำ (รองช้ำ) อักเสบ เกิดโพรงฝี และติดเชื้อได้ สังเกตจากลักษณะการวิ่งเรียบ (tort) แสดงอาการกระเผก (lameness)
การใช้มีดปาดกีบคว้านพื้นกีบลงไปมากๆ ทำให้พื้นกีบบางเกินไปทำให้ช้ำง่าย แต่การไม่ปาดพื้นกีบออกเลยก็จะทำให้เวลาใส่เกือกม้า ก็จะเกิดการกดทับพื้นกีบ เกิดรองช้ำได้ ซึ่งจะทำให้เกิดฝีหนองในเนื้อเยื่ออ่อนของกีบ ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะเป็นโพรงฝีลุกลามทะลุออกมาทางไรกีบ (coronet) โพรงฝีนี้จะทำให้การงอกของผนังกีบ (hoof wall) ที่งอกออกมาใหม่มีลักษณะบิดเบี้ยวม้าอาจมีอาการเสียวไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ดีก็จะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อลุกลามทำให้กีบม้าหลุดออกมา ม้าไม่สามารถลงน้ำหนักลุกยืนและตายได้ในที่สุด

บัว (Frog) ลักษณะสามเหลี่ยมคล้ายดอกบัว อยู่กลางพื้นกีบค่อนมาทางท้ายของกีบ เป็นเนื้อเยื่อเอ็นที่มีความยืดหยุ่น รับและกระจายแรงกระแทกเมื่อพื้นกีบกระทบพื้นเมื่อเกิดการเคลื่อนที่ บัวเปรียบเสมือนส้นรองเท้าของคนที่ช่วยให้เดินวิ่งสบายกระจายแรงกระแทกของผ่าเท้า โดยส้นเท้าและผ่าเท้าไม่กระแทกพื้นจนเจ็บ การตัดแต่งกีบม้าด้วยการปาดเอาบัวออกก็จะทำให้ม้าขาดส่วนที่รับแรงกระแทก

เนื้อเยื่อของบัวจะมีต่อมเหงื่อ กีบม้าที่ไม่ได้รับการดูแล แคะทำความสะอาด ยืนอยู่ในคอกที่ชื้นแฉะ ทำให้บัวมีกลิ่นเน่าเหม็น มีโอกาสติดเชื้อราได้ บัวที่สุขภาพไม่ดีก็จะทำหน้าที่ไม่เต็มที่ ต้องมีการดูแลความสะอาดของกีบและสภาพแวดล้อมในคอกให้สะอาดด้วย
การเคลื่อนที่ของม้า ลักษณะการก้าวเดินม้าจะลงน้ำหนักที่ส้นกีบ (heal) ก่อนบัว (frog) และผนังกีบ (hoof wall) จะขยายบานออกทางด้านข้างและหดกลับเมื่อม้ายกกีบขึ้นจากพื้นม้าที่มีการใส่เกือกโดยตอกตะปูตัวสุดท้ายใกล้ส้นกีบ (heal) เกือกจะบีบส่วนนี้ไว้ทำให้ผนังกีบส่วนนี้ยืดขยายไม่ได้ กีบจะรองรับแรงกระแทกไม่ดี จะทำให้กีบค่อยๆห่อตัวหดเข้ามา ม้ากีบห่อ (club hoof) จะรับแรงกระแทกได้ไม่ดีทุกครั้งที่กีบลงพื้น แรงสะเทือนจะถูกส่งขึ้นไปตามขา ตาตุ่ม (felt lock) ข้อเข่า (knee) มีผลทำให้เกิดการบาดเจ็บตามมา
ภายในกีบจะมีกระดูกปลายนิ้วเท้า (coffin bone) และกระดูกรูปเรือ (navicular bone) ต่อขึ้นมาจะเป็นกระดูกข้อนิ้วที่ 2 (short pastern) และกระดูกนิ้วข้อแรก (long pastern) เป็นส่วนของข้อเท้าม้าส่วนนี้จะได้รับการบาดเจ็บเนื่องจากความผิดปกติโดยตรง ต่อขึ้นมาจะเป็นกระดูกหน้าแข้ง (cannon bone) ส่วนที่ต่อกับข้อเท้าจะมีกระดูกลูกรอก (sesamoid bone) รองรับเส้นเอ็น ด้านหลังของกระดูกหน้าแข้งจะมีกระดูกอีกสองชิ้น (splint bone) กระดูกทั้งหมดนี้เป็นกระดูกขาส่วนล่างที่มีผลต่อการเคลื่อนที่ของม้า ซึ่งจะต้องมีความสมดุลเพื่อให้การเคลื่อนไหวเป็นปกติ ถ้าหากกระดูกและข้อต่อของม้าไม่สมดุลก็จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของม้าผิดปกติ การเคลื่อนไหวที่ผิดปกตินานๆจะทำให้ข้อต่อผิดปกติบิดงอเกิดอาการข้อเสื่อม กระดูกเสื่อม ข้อตาตุ่มอักเสบ ข้อตาตุ่มมีหินปูนมาพอก มีกระดูกงอก เอ็นยึด และน่องยานตามมา

การปาดกีบม้าให้มีส้นกีบสูง ลักษณะกีบจะตั้งทำให้กระดูกภายในเกิดมุมหักลงผิดธรรมชาติ ด้านหน้าของกระดูกข้อนิ้วจะมีแรงกดกระแทกมากม้าวิ่งเร็วก็มีโอกาส ข้อเท้าอักเสบ หรือเกิดชิ้นกระดูกแตกในข้อเท้าได้ ในทางกลับกันถ้าเราปาดกีบให้ส้นกีบเตี้ยและปลายกีบยาว (Long toe low heal) กระดูกข้อนิ้วเกิดมุมลาดลง ดึงให้เอ็นที่อยู่ด้านหลังของขาตึงมาก เกิดน่องยาน ถ้ารุนแรงอาจจะทำให้กระดูกลูกรอกแตกได้

การแต่งกีบด้านในและด้านนอกของกีบก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้เช่นกัน ถ้าเราตัดผนังกีบด้านในมากเกินไปผนังกีบด้านนอกจะยาวกว่า ปลายกีบจะชี้ออกด้านนอกจะทำให้การวางเท้าของม้าไม่สมดุล เมื่อมีการเคลื่อนไหวขาจะวกเข้าด้านในและปลายกีบจะปัดออกนอกแนวของลำตัว (toe out) ทำให้เกิดการเช็ดข้อเท้า () ส่งผลให้ม้าเจ็บขาเมื่อออกกำลังกายต่อเนื่อง ในทางตรงข้ามถ้าเราตัดเอาผนังกีบด้านนอกออกมากผนังกีบด้านในยาวกว่าด้านนอก ปลายกีบชี้เข้าหาตัวเมื่อเคลื่อนไหวขาจะวงออกด้านนอกแล้ววางลงพื้นโดยปลายกีบชี้เข้าด้านใน (toe in) การแต่งกีบที่ไม่ได้สมมาตรดังกล่าวจะส่งผลต่อม้ากีฬาชัดเจน ม้าที่แนวการเคลื่อนที่ของขาตรงจะวิ่งได้เร็วที่สุด ไม่วกเข้าข้างในหรืออ้อมออกทางด้านนอกเพราะระยะทางที่สั้นกว่าในการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว

การแต่งกีบม้าเริ่มด้วยการทำความสะอาดพื้นกีบโดยใช้ที่แคะกีบ (hoof pick) และมีดแต่งกีบ (hoof knife) ปาดส่วนพื้นกีบหรือโซลทางส่วนปลายกีบก่อน (toe) ปาดส่วนด้านข้าง (quarter) ทั้งด้านซ้ายและขวา ควรปาดบางๆเอาพื้นกีบที่มีลักษณะเปื่อยยุ่ย เป็นหลุมโพรงออกให้สะอาด ตลอดจนร่องบัวและสันร่องบัว (bar) มองจากทางส้นกีบสร้างเส้นสมมุติขึ้นเป็นรูปตัว T สังเกตว่าผนังกีบ (wall) ส่วนไหนที่เกินออกมา จากนั้นให้ใช้คีมตัดกีบ (nipper) ตัดผนังกีบโดยการวางปากคีมให้ตั้งฉากกับพื้นกีบ ห่างจากแนวไวท์ไลน์ (white line) เล็กน้อย จะเริ่มตัดผนังกีบจากส่วนส้นกีบไปจนถึงปลายกีบ

จากนั้นใช้ตะไบ (rasp) ตะไบพื้นกีบโดยวางในแนวนอนขนานพื้นดิน ออกแรงถูตะไบจากด้านปลายกีบเข้าหาส้นกีบ การออกแรงถูตะไบจากส้นกีบจะทำให้มีการออกแรงมากเกินไปทำให้กีบไม่เสมอ เมื่อพื้นกีบเรียบเสมอกันดีแล้ว ก็ตะไบขอบผนังกีบเพื่อลบมุมป้องกันการขูดขีดกับพื้นและฉีกขาดได้ ควรระวังอย่าตะไบผิวของผนังกีบจนส่วนเยื่อหุ้มผนังกีบ (periople) ลอกหลุดหมดกีบจะขาดส่วนที่รักษาความชุ่มชื้นของผนังกีบไว้

การแต่งกีบต้องทำให้สมดุลโดย มองกีบจากด้านข้าง ผนังกีบต้องทำมุมตรงกับกระดูกอย่าให้เกิดมุมที่ไรกีบตั้งหรือนอนเกินไป มองกีบจากด้านหน้า ผนังกีบด้านนอกและด้านในต้องยาวเท่ากัน ยกดูพื้นกีบบริเวณกีบทางซ้ายและขวาเท่ากัน ตัดแต่งบัวได้เล็กน้องห้ามตัดบัวทิ้ง อย่าใช้สิ่วตอก เพื่อตัดเล็บเพราะผนังกีบส่วนที่รับน้ำหนักจะถูกตัดทิ้งไป

เกือกม้ามีไว้สำหรับช่วยผนังกีบในการรองรับน้ำหนัก รับการเสียดสีกับพื้นดิน ช่วยให้กีบสึกช้าลงไม่แตกบิ่นซึ่งจะทำม้าได้รับบาดเจ็บได้ เกือกมีทั้งเป็นเหล็กกล้า อลูมิเนียม และวัสดุสังเคราะห์ ตะปูที่ใช้ยึดระหว่างเกือกม้าและผนังกีบมีความเฉพาะทำด้วยโลหะผสมมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นได้เล็กน้อย ปลายด้านหนึ่งของตะปูจะถูฝานออกเมื่อตอกเข้าผนังกีบแล้วตะปูก็จะโค้งตัวทะลุออกมาได้
เกือกที่ใส่จะต้องพอดีกับกีบเท้าของม้า ซึ่งจะต้องใส่ด้วยช่างเกือก (farriors) ที่มีความชำนาญ เพราะเราจะต้องดัดเกือกม้าให้เข้ารูปทรงเหมาะสมพอดีกับกีบม้า “เราไม่สามารถดัดกีบม้าให้เข้ากับเกือกได้” การใส่เกือกที่เล็กเกินไปจะทำให้กีบเท้าห่อไม่สามารถขยายกระจายแรงได้ ทำให้ม้าเจ็บเท้าและเกิดความเสียหายของเส้นเอ็นดังที่กล่าวมาแล้ว

การดูแลรักษากีบม้าจะต้องมีความรู้และเข้าใจดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จะส่งผลให้ม้าของเรามีสุขภาพกีบที่ดี มีความสามารถในการใช้งานและอยู่กับเราได้นานขึ้น



1. heel perioplium
2. bulb
3. frog
4. central groove
5. collateral groove
6. heel
7. bar
8. seat of corn
9. pigmented walls (external layer)
10. water line (inner layer)
11. white line
12. apex of frog
13. sole
14. toe
15. how to measure width
16. quarter
17. how to measure length



1. Coronet
2. Walls
3. Toe
4. Quarter
5. Heel
6. Bulb
7. pastern

วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553

การคำนวณน้ำหนักม้า

การคำนวณน้ำหนักม้า เพื่อใช้ในการรักษาให้ยา หรือประเมิณความสมบูรณ์ของม้า โดยสามารถใช้สูตรคำนวณดังนี้


เส้นรอบอก วัดรอบอกหลังขาหน้าให้แน่น มีหน่วยเป็นนิ้ว
ความยาวลำตัว วัดจากปุ่มกระดูกหัวไหล่ม้าจนถึง ปุ่มกระดูกเชิงกราน มีหน่วยเป็นนิ้ว