วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Horse Shoe and Hoof problem

Horse Shoe and Hoof problem
“เกือกม้ากับปัญหาของกีบ”


หลังจากที่ร่ายยาวเรื่องกีบเท้าม้า และเกือกม้ามาหลายฉบับแล้ว ท่านผู้อ่านทั้งหลายก็คงจะเข้าใจแล้วว่าเกือกม้าที่ดีนั้นจะส่งผลดีต่อกีบเท้าด้วย ในฉบับนี้คงจะเป็นเรื่องสุดท้ายของเกือกม้าและกีบม้าแล้ว ในฉบับหน้าก็จะเริ่มหัวข้อใหม่ ซึ่งจะเป็นเรื่องอะไรนั้น บรรณาธิการยังไม่ให้บอก แต่ผมจะขอเกริ่นว่าเป็นเรื่องราวที่หลายๆท่านสนใจและเรียกร้องมามากมาย เอาไว้ให้ท่านผู้อ่านอดใจรอลุ้นในฉบับหน้า

หลังจากที่เราใส่เกือกม้าเพื่อปกป้องไม่ให้กีบเท้าได้รับการบาดเจ็บแล้ว อีกบทบาทหนึ่งของเกือกม้าในการแก้ปัญหากีบเท้าม้านั้น เป็นการแก้ปัญหาของกีบเท้าม้าทางกายภาพหลังจากที่ม้าได้รับการรักษาทางอายุรกรรม และหรือศัลยกรรมแล้วนั้น ช่างเกือกจะมีบทบาทเข้ามาทำงานร่วมกับศัลยแพทย์อีกด้วย ช่างเกือกเหล่านี้โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นช่างเกือกที่ได้รับการอบรมเรียนรู้ในระดับกลางถึงระดับสูง อันมีความรู้ความเข้าใจในสรีระวิทยาโครงร่างของม้า เพื่อใส่เกือกให้กับม้าที่บาดเจ็บตามคำแนะนำของสัตวแพทย์

ช่างเกือกจะคำนึงถึงกายวิภาคโครงสร้างที่ปกติของม้า (Anatomy and conformation) ว่าโครงสร้างร่างกายของม้าที่ดีเป็นอย่างไร โครงสร้างของขาม้าโดยละเอียด อันได้แก่ กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท เส้นเลือด ชั้นผิวหนัง ขน และโครงสร้างกีบเท้า สรีระวิทยาการเคลื่อนที่ของม้า (physiology of motion) การก้าวย่าง (walk) วิ่งเรียบ (trot) วิ่งขโยก (canter) วิ่งควบ (gallop) มีความแตกต่างกันอย่างไร การลุก นั่ง นอน ของม้ามีลำดับขั้นตอนอย่างไร พฤติกรรมของม้า (horse behavior) การกินอาหาร แทะเล็ม เล่น นอน ขับถ่าย และพฤติกรรมทางเพศ เพื่อที่จะแก้ไขอาการบาดเจ็บหรือผิดปกติของม้าให้ได้ประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลทางการรักษา ไม่เป็นการขัดขวางการดำรงชีวิตโดยปกติของม้า

ปัญหาของกีบเท้าม้าที่ต้องอาศัยการใส่เกือกช่วยในการรักษาได้แก่ ความผิดปกติของกีบเท้า (Neglect) ความยาวของกีบมากเกินไป สั้นเกินไป กีบเอียงเสียความสมดุล ไม่ว่าจะเป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือสาเหตุจากมนุษย์ กีบแตกเสียหาย (Hoof damage) จากการได้รับอุบัติเหตุในส่วนของผนังกีบซึ่งเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนัก การปล่อยให้กีบงอกเองตามธรรมชาตาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือน เกือกสามารถช่วยลดการบาดเจ็บซ้ำซ้อน และสามารถใช้วัสดสังเคราะห์สร้างผนังกีบเทียมขึ้นมาได้ กีบเท้าไม่ดี (Poor quality) เช่น กีบเปราะบาง แห้งแข็ง ฝุกร่อน อันเนื่องมาจากโภชนาการไม่เหมาะสม สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม การจัดการ โรค หรือภยันตรายต่างๆ ส่งผลต่อคุณภาพของกีบม้า อาทิ กีบผิดรูป กีบแตก ปลายกีบยาวส้นเท้าต่ำ (long toe low heel) กีบห่อ (club hoof) กีบฝุ (spongy hoof) ไข้ลงกีบ (laminitis) ฝีใต้กีบ (Hoof abscess) กีบบัวช้ำ (fog trauma) เกือกม้าที่ใช้ในการรักษาปัญหากีบเท้าเหล่านี้มีมากมายหลายประเภทตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รูปแบบของเกือกม้าเหล่านี้จะมีการเสริมคุณลักษณะพิเศษเพื่ออก้ปัญหากีบเท้าในลักษณะที่ต่างกัน

เกือกม้าที่เสริมส่วนส้นเท้าเพื่อช่วยในการรองรับน้ำหนัก เกือกม้ารูปไข่ (Egg bar shoe) ลักษณะปลายของเกือกยาวจรดกันเป็นวงรี รูปไข่ เกือกชนิดนี้ได้รับความนิยมใช้กว้างขวาง ลักษณะดังกล่าวทำให้การกระจายแรงของน้ำหนักตัวที่ทำต่อผนังกีบแผ่ขยายออกไปทุกด้านแม้กระทั่งด้านหลัง ซึ่งเกือกปกติจะรับแรงตามผนังกีบเท้านั้น ทำให้เกือกชนิดนี้เหมาะสำหรับม้าที่ได้รับอุบัติเหตุกีบแหว่งหายไปไม่สามารถรับแรงกดของน้ำหนักตัวได้ และยังใช้สำหรับม้าที่มีปัญหาอื่นๆเช่น กีบเปราะบาง ปลายกีบยาวส้นเท้าต่ำ กีบฝุ ไข้ลงกีบ ฝีใต้กีบ และกีบบัวช้ำได้ เกือกม้ารูปแท่ง (Full bar shoe) ลักษณะของเกือกส่วนส้นจะมี แท่งเหล็กพาดขวางไว้ เพื่อช่วยในการรับน้ำหนักของส้นเท้า เกือกม้ารูปหัวใจ (Heart bar shoe) ด้านหลังจะเสริมเว้าเข้ามาเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของกีบบัว (frog)

เกือกม้าที่เสริมด้านหน้าส่วน Toe เพื่อปรับมุมของขาให้เหมาะสม ปกป้องกระดูกและเส้นเอ็น เกือกหัวเหลี่ยม (Square toe) ปลายด้านหน้าของเกือกจะถูกตัดให้สั้น สำหรับม้าที่การก้าวขายาวจนขาหลังเหยียบขาหน้า (overreaching) 

เกือกม้าเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่นำเสนอเพียงเล็กน้อย รายละเอียดของเกือกม้าและงานช่างเกือกนั้นยังมีอีกมากมาย ซึ่งปัจจุบันมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการรักษากีบม้าด้วย เช่น การใช้วัสดุสังเคราะห์โพลีเมอร์ที่ใช้ทำยานอวกาศมาทำเกือกม้าแล้วใช้กาวเคมีติดแน่นทนนานแทนการตอกตะปู การใช้วัสดุสังเคราะห์ในการสร้างกีบเท้าเทียมแทนกีบม้าที่แตกหายไป และยังมีแผ่นรองเกือก (hoof pad) เป็นแผ่นยางเอทิลีนที่มีความทนทานยืดหยุ่นได้ ใช้รองระหว่างกีบม้าและเกือกเพื่อปรับมุมให้ได้เหมาะสมสะดวกต่อการใช้งาน

อย่างที่กล่าวมาข้างต้น การใช้เกือกม้าในการรักษาปัญหาของกีบม้า จะต้องได้รับการวินิจฉัยจากสัตวแพทย์ และใส่เกือกม้าโดยช่างเกือกผู้ชำนาญงาน อันจะทำให้การรักษาได้ผลดี แลขอให้ท่านพึงระลึกไว้เสมอว่า “No hoof! No horse!” ขอให้ม้าของท่านมีสุขภาพแข็งแรง สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น