วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

Yearling ม้ารุ่น

Yearling
ม้ารุ่น by นายโก้


สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ความเดิมตอนที่แล้วเรามาคุยกันเรื่องม้าหย่านม (Weaning) ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญในการเจริญเติบโตของม้าจนกว่าจะเป็นม้าโตที่ใช้งานได้ ในฉบับนี้เราจะมาดูม้ารุ่น (yearling) ซึ่งเป็นอีกช่วงวัยหนึ่งที่จะต้องมีการจัดการที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ม้าที่ดีพร้อมนำไปฝึกใช้งาน เป็นรอยต่อของวัยที่จะส่งผลโดยตรงต่อชีวิตม้าในอนาคต

ลูกม้าเมื่อแรกเกิดได้รับการเลี้ยงดูจากแม่เป็นช่วงต้นของชีวิตที่ได้รับอิทธิพลจากแม่ม้าโดยตรงคือ ถ้าแม่ม้ามีช่องท้องขนาดใหญ่ลำตัวลึก ลูกม้าก็สามารถพัฒนาโครงสร้างตัวได้ใหญ่และคลอดได้สะดวก แม่ม้าที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์มีนมเลี้ยงลูกม้าอย่างเพียงพอ ลูกม้าก็จะได้รับน้ำนมซึ่งเป็นอาหารหลักของลูกม้าทำให้ลูกม้ามีอัตราการเจริญเติบโตเร็วกว่าลูกม้าที่ไม่ได้รับน้ำนมเพียงพอ  แม่ม้าที่มีสุขภาพจิตที่ดี มีลักษณะความเป็นแม่สูงก็สามารถเลี้ยงลูกม้าให้มีสุขภาพจิตที่แข็งแรง ไม่หงุดหงิดกับการเรียนรู้ของลูก เอาใจใส่ระแวดระวังภัยอันจะเกิดแก่ลูกม้า พฤติกรรมที่ดีต่อมนุษย์ก็จะส่งผ่านมายังลูกม้าได้อีกด้วย

หลังจากหย่านมแล้วลูกม้าก็จะเข้าสู่ช่วงขวบปีแรก ซึ่งมีพัฒนาการทางร่างกายอย่างรวดเร็ว ในช่วงนี้ลูกม้าสามารถเพิ่มความสูงและน้ำหนักตัวมากขึ้น ม้าควรจะได้รับอาหารคุณภาพดีในปริมาณที่เหมาะสม อันประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ

Energy / Carbohydrates ม้าเป็นสัตวกระเพาะเดี่ยว (non ruminant) กินพืชเป็นอาหาร (herbivores) ย่อยและดูดซึมสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (nonstructural Carbohydrates) ที่กระเพาะและลำไส้ จำพวก แป้งและน้ำตาล ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดผ่าน portal vein นำไปใช้เป็นพลังงานได้ทันที ส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปสะสมที่ตับ อาหารหยาบจะถูกส่งผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่แล้วเกิดกระบวนการหมักจะได้ Volatile fatty acid จะถูกดูดซึมที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ง่าย
Fat/Lipid ไขมันในอาหารม้าเมื่อม้ากินเข้าไปจะถูกสะสมอยู่ในรูปของไกลโคเจน เป็นพลังงานสำรองเมื่อม้าต้องการใช้พลังงานในการออกกำลังกาย ซึ่งจะมีความสำคัญในม้ากีฬาที่จะต้องใช้พลังงานจำนวนมาก

Protein โปรตีนในอาหารม้ามีความสำคัญต่อม้าในวัยที่กำลังเจริญเติบโต ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างโครงสร้างของร่างกาย กล้ามเนื้อและน้ำหนักตัว โปรตีนที่ดีจะต้องมีความสามารถในการย่อยได้สูง (digestible protein) ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำมาประกอบสูตรอาหารนั้น ซึ่งที่ข้างถุงอาหารจะบอกระดับโปรตีนหยาบ (crud protein)

Mineral แร่ธาตุถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Macromineral ประกอบด้วย แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม คลอไรด์ แมกนีเซียม และกำมะถัน อีกส่วนหนึ่งคือ Micromineral ประกอบด้วย ทองแดง ไอโอดีน เหล็ก เซลิเนียม โคบอลต์ แมงกานิส ฟลูออไรด์ และสังกะสี ซึ่งมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของม้าขอสรุปย่อนะครับ

แคลเซียม (Calcium) เกี่ยวข้องกับการสร้างกระดูก การแข็งตัวของเลือด ระบบประสาท และกล้ามเนื้อ อาการขาดแคลเซียมเกิดขึ้นได้ในหลายระบบ ฟอสฟอรัส (phosphorus) เกี่ยวข้องกับการสร้างและสลายกระดูก อัตราส่วนของแคลเซียมและฟอสฟอรัสควรจะอยู่ในอัตรา 1-5:1

ธาตุเหล็ก (Iron) เป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง เอนไซม์ และการขนส่งออกซิเจน หากขาดจะพบอาการโลหิตจาง อ่อนแรง

ทองแดง (Copper) เกี่ยวข้องกับการดูดซึมธาตุเหล็ก การสร้างฮีโมโกลบินบนเม็ดเลือดแดง และสีผิว
แมกนีเซียม (Magnesium) เกี่ยวข้องกับการสร้างกระดูก การทำงานของเอนไซม์ และการสร้างพลังงาน
โซเดียม (Sodium) โพแทสเซียม (potassium) และคลอไรด์ (chloride) มีความสำคัญในการธำรงดุลของร่างกาย สารน้ำระหว่างเซลล์ ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ

สังกะสี (Zinc) กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ อาการขาดที่สำคัญ ขนร่วง ผิวหนังแห้งแตก แผลหายช้า ระบบสืบพันธุ์บกพร่อง พฤติกรรมผิดปกติ และความผิดปกติของกระดูก

ไอโอดีน (Iodine) เกี่ยวกับการทำงานของต่อมไทรอยด์ หากขาดจะพบอาการคอพอก และความผิดปกติในลูกม้าแรกคลอด

แมงกานิส (Manganese) การสร้างกระดูก และข้อต่อ หากขาดจะพบปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ เป็นสัดช้า ความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำ แท้งลูก และกระดูกผิดรูปในลูกม้า

เซลิเนียม (Selenium) เกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อ หากขาดจะพบอาการกล้ามเนื้อฝ่อลีบ
Vitamins ในม้าวิตามินที่สามารถละลายในน้ำ (water soluble vitamins) ม้าสามารถได้รับอย่างเพียงพอจาก หญ้าและอาหารหยาบคุณภาพดี อีกส่วนหนึ่งคือวิตามินที่ละลายในไขมัน (fat soluble vitamins) ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค ซึ่งม้าจะต้องได้รับเพิ่มจากอาหารคุณภาพดีซึ่งมีความสำคัญ

วิตามินเอ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต และการมองเห็น หากขาดจะพบอาการผิดปกติของดวงตา อัตราการผสมติดต่ำ ความต้องการทางเพศลดลง อัณฑะฝ่อลีบ อัตราการเจริญเติบโตลดลง ปัญหาในระบบทางเดินหายใจ อาการทางระบบประสาท

วิตามินดี สามารถสังเคราะห์ได้จากแสงแดด เสริมการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส

วิตามีนอี ทำงานร่วมกับเซลิเนียม เกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อ และกล้ามเนื้อหัวใจ วิตามินเค สามารถสังเคราะห์ได้จากลำไส้ใหญ่ มีบทบาทในการแข็งตัวของเลือด หากขาดจะพบว่าเมื่อเกิดบาดแผลจะทำให้เลือดไม่แข็งตัว หยุดไหลช้า และเสียเลือดมาก

น้ำ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย โดยปกติม้าจะดื่มน้ำสะอาดประมาณ 30-40 ลิตรต่อวัน ในวันที่อากาศร้อนม้าอาจจะต้องการน้ำมากขึ้น หากขาดน้ำม้าอาจะเกิดอาการเสียดท้องแบบอัดแน่น

การประเมินอัตราการเจริญเติบโตของม้ามีความจำเป็นในการผิดม้าในระดับอุตสาหกรรมรมเพื่อต้องการม้าที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการนำไปทำม้ากีฬาซึ่งต้องการม้าสมรรถภาพสูง (High performance) และลดความสูญเสียระหว่างการเจริญเติบโต มีการบันทึกสัดส่วนของม้าเพื่อติดตามการเจริญเติบโตให้ตรงตามพันธุ์ การบันทึกเช่น น้ำหนัก ความสูง ความยาวลำตัว ขนาดข้อต่อหัวเข่า

การดูแลสุขภาพม้าช่วงวัยนี้จะเน้นการป้องกันโรคติดต่อด้วยการทำวัคซีน ให้ครอบคลุมเพื่อให้ม้ามีภูมิคุ้มโรค ในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคจำหน่ายเพียง วัคซีนป้องกันโรคขาอ่อน วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก วัคซีนป้องกันโรคหวัดติดต่อในม้า และวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่ใช่ว่าในบ้านเราจะไม่มีโรคติดต่ออื่นๆที่มีในโลกนี้ ผมขออธิบายสั้นๆเกี่ยวกับโรคติดต่อที่สำคัญในม้า ซึ่งท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  การทำวัคซีนจะต้องให้สัตวแพทย์เป็นผู้ทำให้

โรคขาอ่อนในม้าViral Rhinopneumonitis เป็นโรคติดต่อที่ทำให้เกิดอาการในกลุ่มต่างๆ คือ ระบบทางเดินหายใจ การแท้งลูก และอาการอัมพาตเกิดจากเชื้อไวรัส สาเหตุ เชื้อไวรัส Herpesvirus-1

โรคบาดทะยัก (Tetanus) สาเหตุเกิดจากเชื้อคลอสตริเดียม เททานิ (Clostridium tetani) ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณผิวดิน ในอุจจาระ สัตว์ที่ป่วยจะมีอาการขากรรไกรแข็ง หรือขาหลังทำงานไม่ได้ตามปกติ อุณหภูมิในร่างกายขึ้นสูง หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก สัตว์ที่ป่วยจะไม่ชอบแสงสว่างและเสียง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริวแข็งมากขึ้น อาจล้มลงและถึงตายได้ในที่สุด  

การฝึกม้าในช่วงวัยนี้จะเน้นการจับจูงบังคับความคุม เพื่อสะดวกต่อการจัดการ ม้าวัยนี้ควรจับจูงง่ายไม่ดื้อรั้น เพราะวัยนี้มีกำลังมาก และอาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่คนเลี้ยงได้ ม้าจะต้องถูกจับบังคับเพื่อให้ง่ายต่อการอาบน้ำ กราดแปรงขน ยกขา แคะกีบ ด้วยการผูกโยงด้วยการฝึกผูกม้าไว้กับเชือก อาจะใช้เชือกฟางผูกเป็นวงแล้วค่อยเอาเชือกจูงผูกอีกทีหนึ่ง ถ้าหากว่าม้าออกแรงดึงมากเชือกฟางก็จะขาดก่อนและม้าไม่ได้รับอันตราย

หลังจากผ่านช่วงวัยรุ่นแล้วม้าก็จะเข้าสู่วัยหนุ่ม ซึ่งโตเต็มวัยและพร้อมที่จะรับการฝึกเพื่อใช้งาน ผมเขียนรับใช้ท่านผู้อ่านเกี่ยวกับการฝึกม้ามาแล้ว 4 ตอน ตั้งแต่เริ่มต้น แรกเกิด หย่านม และวัยหนึ่งปี ซึ่งถ้าหากเป็นการเลี้ยงม้าจริงๆจะต้องใช้เวลากว่า 1 ปีเลยทีเดียว ซึ่งผมจะเรียนท่านว่า การเลี้ยงม้าอย่าใจร้อน เพียงเห็นว่าม้ายอมรับให้เราควบคุมเค้าได้ก็จะติดอานแล้วขี่เลย ซึ่งจะทำให้ได้ม้าที่ไม่ดีมาใช้อีกเกือบ 20 ปีเลยทีเดียว ตอนต่อไปเราจะเริ่มมาฝึกม้าเพื่อใช้งานกันเสียที สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น