วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2557

Weaning หย่านม

Weaning
หย่านม by นายโก้



สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ฉบับที่แล้วเราได้เริ่มกระบวนการฝึกม้าตั้งแต่ลูกม้าแรกคลอด ลืมตาออกมาดูโลกก็จะเกิดกระบวนการการเรียนรู้ รับมนุษย์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของฝูง ผู้ฝึกม้าที่ดีก็จะเริ่มสานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับม้าให้พัฒนามากยิ่งขึ้น ม้าที่ผ่านกระบวนการนี้ตั้งแต่เล็กจะเป็นม้าที่ง่ายในกระบวนการฝึกขั้นสูงต่อๆไป ฉบับนี้เราจะมาหย่านมลูกม้า โดยทั่วไปถ้าไม่ทำการหย่านมลูกม้า ลูกม้าจะดูดนมแม่ม้าไปเรื่อยๆ จนแม่ม้ารำคาญแล้วไม่ให้ดูดนมจนกระทั่งลูกม้าหย่านมไปเอง แต่ในแม่ม้าบางตัวที่มีนำนมเลี้ยงลูกอาจจะยอมให้ลูกดูดนมไปตลอด บางตัวอาจจะเป็นปี บางตัวอาจจะดูดนมจนแม่ม้าคลอดลูกอีกตัวแล้วตัวพี่ก็ยังแย่งน้องดูดนมอยู่นั่นเอง

การหย่านมมีความสำคัญในการผลิตลูกม้าในระบบฟาร์ม แม่ม้าที่ให้นมลูกเป็นระยะเวลานานจะมีสุขภาพไม่แข็งแรงเสื่อมโทรม ผอมมาก มีภาวะทุพโภชนา ภาวะขาดสารอาหารอาจส่งผลต่องร่างการแม่ม้าหลายประการ เช่น ความสมบูรณ์พันธุ์ในแม่ม้าทำให้ให้เกิดปัญหาผสมติดยาก แม่ม้าไม่เป็นสัด (Heat) หรือเป็นสัดเงียบ ขาดสารอาหารโดยเฉพาะแร่ธาตุแคลเซี่ยม (Calcium) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการดำรงชีวิต เป็นสารสื่อประสาท สำคัญต่อการสร้างโครงสร้างร่างกายลูกม้าขณะอยู่ในท้องแม่ และเป็นสารประกอบที่สำคัญในน้ำนม ซึ่งแคลเซี่ยมที่นำมาใช้นั้นจะถูกสลายออกมาจากกระดูกของแม่ม้า ในระยะยาวจะทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน เราจึงต้องทำการหย่านมลูกม้าโดยทั่วไปเมื่อลูกม้าอายุ ประมาณ 5-7 เดือน

เรามาทบทวนกันก่อนที่จะเริ่มฝึกต่อไปนะครับ ลูกม้าเกิดใหม่ (New born) จะเทียบเท่าเด็กทารกจนกระทั่งอายุได้ 3 วัน หลังจากนี้ก็จะเป็นลูกม้า Foal ถ้าเป็นลูกม้าตัวผู้จะเรียกว่า Colt (โคลท์) จนกระทั่งเคยผสมพันธุ์เป็นพ่อม้าจะเรียกว่า Stallion (สเตเลี่ยน) หรือถ้าหากถูกตอนจะเรียกว่า Geld (เกลด์) และถ้าเป็นลูกม้าเพศเมียจะเรียก Filly (ฟิลลี่) และเมื่อตั้งท้องแล้วเป็นแม่ม้าจะเรียกว่า Mare (แมร์)

โปรดอย่าลืมว่าการฝึกม้านั้นคือ การฝึกให้ม้าทำแบบฝึกซ้ำๆให้ได้ดีก่อนที่จะเริ่มฝึกในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ถ้าการฝึกม้าเป็นไปแบบข้ามขั้น ม้าพวกนั้นจะสร้างปัญหาในการขี่หรือการใช้งานในอนาคต ปัญหานี้พบมากในม้าไทยซึ่งน้อยตัวที่จะมีโอกาสได้เข้ารับการฝึกอย่างถูกวิธี ถูกหลักและเป็นแบบแผนสากล อันจะทำให้ม้าเหล่านั้นมีศักยภาพในการใช้งานด้านต่างๆ ศักยภาพในด้านกีฬา หรือแม้แต่การเลี้ยงดูก็จะจัดการได้ง่าย แต่ม้าที่ถูกฝึกอย่างไม่สมบูรณ์เมื่อเปลี่ยนมือ เปลี่ยนคนขี่ก็จะสร้างปัญหาไม่เชื่อฟังคำสั่ง ดื้อ ขี่ไม่ได้ ยากต่อการควบคุมดูแล และเป็นปัญหาถูกขายทิ้งเรื่อยไป

คนที่เอาไม่อยู่หรือควบคุมไม่ได้ ก็จะโทษว่าม้าไทยนั้นดื้อด้าน ฝึกได้ไม่ดี โง่ ไม่มีความสามารถ แต่ความคิดเห็นของผู้เขียนคิดว่ากระบวนการฝึกเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ม้าเหล่านั้นมีความสามารถอย่างไร ถ้าท่านผู้อ่านได้เข้าไปดูสโมสรขี่ม้าต่างๆในกรุงเทพ จะเห็นว่าสโมสรขี่ม้าเหล่านี้ เอาม้าไทยตัวเล็กเข้าไปฝึก เพื่อไว้เป็นม้าชั้นเรียน หรือม้ากีฬากระโดดและศิลปบังคับม้า อย่างเช่นปัจจุบันมีรายการแข่งขันไทยแลนด์โพนี่แชมเปี้ยนชิพ (Thailand Pony Championships) โดยนำม้าที่มีความสูงไม่เกิน 14 แฮนด์ (เซนติเมตร) มาฝึกขี่กระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง ตามกฎกติกาสากล ซึ่งมีจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยสโมสรขี่ม้าต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทย ท่านที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชม ติดตามข่าวสารกีฬาม้าของสมาคมฯได้ตามเวบไซด์เลยครับ

กลับมาเข้าเรื่องฝึกม้าของเราต่อ เราจะเริ่มฝึกใส่ขลุม เมื่อลูกม้าโตอายุได้ประมาณ 3-4 เดือนแล้ว ต้องระมัดระวังอย่าให้ขลุมเกี่ยวติดกับอะไร ห้ามใส่ขลุมลูกม้าทิ้งไว้เด็ดขาด และขั้นต่อมาเมื่อลูกม้าอายุประมาณ 5 – 6 เดือนซึ่งจะใกล้ช่วงหย่านม (weaning) เราก็จะฝึกจับจูงลูกม้าโดยการฝึกในคอกวงกลม (Round pen) โดยขั้นแรกจะจูงฝึกลูกม้าด้วยการจูงตามแม่ม้าในคอกวงกลม ผมขอทบทวนการฝึกจากฉบับที่แล้วนะครับ

เราจะเริ่มฝึกจับจูงโดยใช้สายจูง (lead lop) ที่มีตะขอ (snap ling) และสายจูงผ้านุ่มไม่บาดมือยาวประมาณ 2 – 4 เมตร เริ่มต้นเอาแม่ม้าและลูกม้าเข้าสู่คอกวงกลม (round pen) ให้ผู้ช่วยฝึกจับแม่ม้าให้ยืนนิ่ง ใส่ขลุมให้ลูกม้าแล้วเกาะตะขอสายจูงที่ขลุม ถ้าหากลูกม้าดิ้นรนที่จะหนีจากสายจูง ห้ามปล่อยสายจูงให้เดินตามลูกม้าไปแต่ให้สายจูงตึงอยู่ตลอด เมื่อลูกม้าสงบลงแล้วค่อยๆจับสายจูงให้สั้นเข้า ปลอบด้วยเสียงต่ำอาจใช้คำว่า “ดี ดี ดี”ลูบมือตามแผงคอหลังและสะโพก เมื่อลูกม้ายอมแล้วออกคำสั่ง “หน้าเดิน” ให้ผู้ช่วยฝึกเริ่มจูงแม่ม้าออกเดินตามแนวของคอกวงกลม ลูกม้าก็จะเดินตามแม่และอาจจะเริ่มตื่นและดิ้นรนอีกครั้ง ผู้ฝึกจะต้องค่อยๆปลอบและเดินตามไป เมื่อลูกม้าสงบลงจึงออกคำสั่ง “หยุด” (ลากเสียงยาว) ให้ลูกม้ายืนนิ่งประมาณ 1 นาที และจึงออกคำสั่งให้เดินทำอย่างนี้สลับไป 4 – 5 รอบแล้วจึงจูงแม่ม้าและลูกม้าออกจากคอกวงกลม กลับคอกพัก

การฝึกจูงจะต้องมีการฝึกซ้ำจนกระทั่งลูกม้ายอมรับคำสั่งจากผู้ฝึกไม่ได้เดินตามแม่แต่เพียงอย่างเดียว ทำการฝึกโดยนำแม่ม้าและลูกม้าเข้าสู่คอกวงกลม เริ่มต้นจากการจูงเดินโดยให้แม่ม้าเดินนำ 2 – 3 รอบ แล้ว ให้ผู้ช่วยนำแม่ม้าเข้าสู่งกลางคอกวงกลมแล้วหยุดรอ แต่ผู้ฝึกให้จูงลูกม้าตามแนวของคอกวงกลมต่อไป ถ้าลูกม้าไม่ยอมจึงหยุด แล้วให้ผู้ช่วยนำแม่ม้าจูงเดินนำต่อไป และเริ่มการฝึกใหม่จนกว่าลูกม้าจะยอมทำตามคำสั่งเรา ขั้นตอนนี้ระยะเวลาการฝึกประมาณ 4-6 สัปดาห์

เมื่อลูกม้าอายุได้ 6 เดือนย่างเข้าสู่เดือนที่ 7 ก็จะเข้าสู่ช่วงการหย่านม การหย่านมลูกม้าถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิตลูกม้าเลยทีเดียว วันที่เราทำการหย่านมลูกม้าวันเดียวนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ลูกม้าทั้งทางด้านสรีระวิทยา (Physiological) ด้านจิตใจ (Mental) และพฤติกรรม (Behavior) อันมีผลกระทบต่อลูกม้าโดยตรง ทางสรีระวิทยาที่ชัดเจนได้แก่ระบบทางเดินอาหาร ลูกม้าที่เคยได้รับโปรตีนคุณภาพสูงจากน้ำนมแม่ รวมถึงไขมัน คาโบไฮเดรท และน้ำ โดยทั่วไปลูกม้าที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างปกติจะมีพฤติกรรมการเลียนแบบการกินอาหารของแม่ม้า และเรียนรู้ที่จะกินอาหารก่อนจะถึงวัยหย่านม ในช่วงนี้อาหารที่เหมาะสมกับลูกม้าได้แก่อาหารม้าสำเร็จรูปคุณภาพดี มีโปรตีนไม่เกินร้อยละ 16 ซึ่งจะใช้เลี้ยงลูกม้าจนถึงอายุ 2 ปี

ทางด้านจิตใจจะเห็นได้ชัดว่าเมื่อแยกแม่ม้าออกจากลูกไปแล้วจะมีการร้องเรียกหาทั้งแม่ม้าและลูกม้า ซึ่งเราจะแก้ไขด้วยวิธีการฝึก ทางด้านพฤติกรรมลูกม้าอาจจะแสดงอาการทางประสาทในช่วงแรก เช่น เดินวน ยืนโยกตัวไปมา หรือกัดแทะคอก เราก็จะแก้ไขด้วยการเพิ่มกิจกรรมให้ลูกม้าเบี่ยงเบนความสนใจ

เมื่อถึงวันที่เราจะการหย่านมเราจะใช้วิธีการแยกแม่ม้าออกจากลูกม้า เราจะต้องเตรียมคอกว่างให้แม่ม้าอยู่ห่างจากคอกของลูกม้าหรืออาจจะเป็นคอกที่ไม่สามารถมองเห็นกัน ด้วยการฝึกจูงในคอกวงกลม ปฏิบัติเช่นเดิมด้วยการนำแม่ม้าและลูกม้าเข้าสู่คอกวงกลมแล้วฝึกจูงลูกม้าโดยให้แม่ม้านำ เมื่อลูกม้ามีความสนใจในการฝึกและยอมรับคำสั่งดีแล้ว ให้ผู้ช่วยฝึกจูงแม่ม้าออกจากคอกวงกลมกลับไปสู่คอกพักคอกใหม่ที่เตรียมไว้ ในหนึ่งถึงสามวันแรกห้ามนำแม่ม้าและลูกม้าพบกันโดยเด็ดขาด หรือนำมาปล่อยรวมกันเพราะจะทำให้การหย่านมไม่ประสพความสำเร็จ หลังจากหย่านมแล้วประมาณหนึ่งสัปดาห์จึงสามารถปล่อยรวมฝูงได้

แล้วทำการฝึกลูกม้าเดินในคอกวงกลม โดยใช้คำสั่ง “หน้าเดิน” กระตุกสายจูงเล็กน้อยกระตุ้นให้ลูกม้าเดินตามแนวของคอกวงกลม และใช้คำสั่ง “แถวหยุด” รั้งเชือกจูงเมื่อต้องการให้ลูกม้าหยุด เราจะฝึกลูกม้าจูงเดินหลายๆรอบ จนลูกม้ามีสมาธิและความตั้งใจในการฝึกอาจจะใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที ลูกม้าจะต้องจูงได้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา หลังจากเสร็จการฝึกแล้วควรจูงลูกม้าเข้าสู่คอก

ลูกม้าที่หย่านมแล้วในช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรจะเลี้ยงแบบปล่อยแปลงในแปลงปล่อยที่กว้างขวางและปลอดภัย เพื่อที่ลูกม้าสามารถวิ่งเล่นออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรง มีการปล่อยรวมฝูงม้ารุ่นด้วยกันทำให้ม้ามีพัฒนาการทางสังคมที่ดี ม้าช่วงอายุนี้ต้องการอาหารคุณภาพดีเพื่อการพัฒนาโครงสร้างร่างกาย และหญ้าอย่างพอเพียง ในแปลงปล่อยควรมีภาชนะที่แข็งแรงใส่น้ำสะอาดให้ม้าด้วย จนถึงม้ารุ่นอายุ 2 ปี ก่อนที่จะนำเข้าสู่ระบบการฝึกเพื่อที่จะขี่ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น