วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Horse Handling and Shoeing Position

Horse Handling and Shoeing Position
การจับบังคับม้าเพื่อใส่เกือก by นายโก้



มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “งานใส่เกือกม้า” ซึ่งก็ถูกต้องแล้วครับ การใส่เกือกม้าเป็นงานที่มีความเสี่ยงในชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าถูกม้าเตะ ม้ากัด ม้าเหยียบเท้าม้าชนล้มทับ สารพัดที่เจ้าม้าตัวดีจะสรรหาวิธีการเกเรมาสร้างปัญหาได้ ถ้าถามช่างเกือกม้า (Farriers) ทุกคนแล้วว่า เราจะจัดการกับปัญหาอย่างไร ก็จะได้คำตอบที่เหมือนกันคือ ความรอบคอบไม่ประมาทในการทำงาน Horse sense คือ การรับความรู้สึกของม้านั้นจากการมองเห็น ได้ยิน ดมกลิ่นและสัมผัส

การมองเห็น (sight) ม้าสามารถมองภาพได้ในแนวกว้างทั้งทางด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง ทำให้ม้าสามารถเฝ้ามองศัตรูได้รอบตัว ตาของม้าจะอยู่ค่อนมาทางด้านข้างของหัว และสามารถใช้ตาแต่ละข้างมองภาพวัตถุที่ต่างกันได้ (Monocular vision) และในขณะโฟกัสภาพ เลนส์ตาของม้าจะไม่ยืดหดเหมือนของคน ม้าจะใช้การผงกหัวขึ้นลงในการดูภาพใกล้หรือไกล หากเป็นภาพที่อยู่ไกลมันจะยกหัวขึ้น และเมื่อภาพอยู่ใกล้จนถึงประมาณ 1.2 เมตร ม้าจะก้มหัวต่ำลงจึงจะเห็นภาพชัดรูปทรงของหัวม้าจึงมีความสัมพันธ์กับการมองเห็นของม้า หากหัวกว้างใหญ่ จะมองภาพด้านข้าง และด้านหลังได้ชัดกว่าหัวเล็กแคบ แต่ม้าที่หัวแคบก็จะปรับตัวให้สามารถมองภาพทางด้านหน้าได้ดีกว่า ถ้ามองภาพสีไม่เห็น จะเห็นเป็นภาพขาว-ดำ เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากมีวิวัฒนาการของตาได้ไม่ดีเหมือนกับตาของสุนัขและแมว แต่ม้าจะมีความสามารถมองเห็นในที่มืดได้ดีกว่า


การได้ยิน (Hearing) ในมนุษย์จะได้ยินเสียงในระดับความถี่ 55 Hz to 33.5 kHz แต่ม้าจะได้ยินเสียงในระดับ - Low to mid frequency: < human และ - High frequency (> 8 kHz): > humanประสาทการฟังเสียงของม้า มีวิวัฒนาการค่อนข้างพัฒนาได้ดี ม้าจะเคลื่อนหูฟ้องรับฟังเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียที่มาจากทิศต่างๆ รอบตัวม้า และยังสามารถเรียนรู้ระดับคลื่นเสียง แยกแยะเสียงและจำได้

การดมกลิ่น (Smell) ม้ามีพัฒนาการด้านการดมกลิ่นได้ดี และนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น ใช้ประกอบกับการมองภาพที่ไม่ชัดหรือมองไม่เห็น เช่น การดมกลิ่นของคนที่อยู่ในตำแหน่งชิดด้านท้ายม้าหรือสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ม้าไม่รู้จัก โดยใช้อวัยวะพิเศษ Vomeronasal organ ใช้การจดจำกลิ่นและสื่อสารกันระหว่างม้าด้วยกัน ม้าจะเข้าดมม้าอีกตัวที่จมูก และบริเวณสวาปเมื่อตรวจสอบกลิ่นตามความจำ และสื่ออารมย์ เช่น ความตื่นเต้น ความกลัวโดยผ่านทางกลิ่น ใช้กลิ่นต่าง ๆ ในภูมิประเทศและจดจำ เพื่อทำให้ม้าสามารถจำทิศทางกลับคอกได้เองอย่างถูกต้อง

การสัมผัส (Touch) ม้าใช้ประสาทสัมผัสตามผิวและร่างกายได้ดี เช่นเดียวกับการดมกลิ่น เมื่อให้สามารถสำรวจ การจดจำสิ่งที่อยู่แวดล้อม สามารถใช้สื่อสารระหว่างม้าด้วยกันดังนั้นเราจึงสามารถใช้ประโยชน์ด้านประสาทสัมผัสของม้ามาใช้ในการบังคับ จับและการฝึกม้า เพราะมีผลตอบสนองต่อความเชื่อมั่น ทำให้ม้าสงบไว้วางใจ ในขณะที่ผู้ขี่ม้าอยู่บนหลังม้า จึงต้องใช้ความรู้นี้ในการที่จะสามารถ กระตุ้นเร้าม้าเพื่อการสื่อสารให้ม้ารับรู้ ความรู้สึก และความต้องการของผู้ขี่ โดยการสัมผัสหลายส่วนของร่างกายม้า จะทำให้การขี่ม้าเกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขี่และม้าได้เป็นอย่างดี

การจับบังคับม้าที่ดีนั้นจะช่วยให้เราทำงานกับม้าได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น เมื่อเราทำงานกับตัวม้าในระยะใกล้ชิดรอบๆตัวม้านั้นเราควรจะทราบว่าม้ามีอารมณ์อย่างไร อารมณ์ดี หรือกำลังหงุดหงิด “Feel how the horse feels” ซึ่งการทำความเข้าใจกับอารมณ์ของม้านั้นจะทำให้เราทำงานกับเค้าได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆที่พบกันบ่อยเช่น ถ้าม้าทำหูชี้ไปข้างหลัง แยกเขี้ยวใส่ก็ให้ระวังตัวเอาไว้ดีๆ

การจับม้า (Catching) พึงรำลึกไว้เสมอว่า “ม้าทุกตัวสามารถทำอันตรายเราได้” ถ้าหากท่านพบหน้ากับม้าตัวนั้นเป็นครั้งแรก เพื่อความปลอดภัยควรให้คนเลี้ยงจับม้ามาให้ เพราะม้าจะมีความไว้วางใจกับผู้เลี้ยงหรือเจ้าของ มากกว่าคนแปลกหน้าที่พึ่งเคยพบกัน หรือถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องจับม้าด้วยตนเองควรจะเข้าหาม้าด้วยความระมัดระวัง สงบเงียบและเคลื่อนไหวร่างกายช้าๆ อย่าทำให้ม้าตื่นก่อนที่จะเข้าถึงตัวม้า เพราะถ้าม้าตื่นก็จะทำให้การทำงานยากขึ้นไปอีก

ช่างเกือกควรเตรียมอุปกรณ์ในการบังคับม้าให้พร้อมอันได้แก่ ขลุมจูง (Halter) เชือกจูง (lead rope) ไม้หมอบิดจมูก (twist) ให้พร้อมใช้อยู่เสมอ ถ้าม้าตื่นท่านจะต้องใช้เชือกคล้องเหมือนในภาพยนต์คาวบอยตะวันตก ซึ่งสามารถฝึกฝนให้ชำนาญได้

เมื่อจับม้าได้แล้วควรให้ม้ายืนนิ่งทำความคุ้นเคยด้วยการลูบมือเบาโดยเริ่มต้นที่ไหล่ด้านซ้ายลูบขึ้นตามลำคอ หน้าผาก เมื่อม้าสงบแล้วก็ลูบมือไปตามแนวหลัง สะโพก โดยยืนเอาด้านข้างเข้าหาตัวม้าหันหน้าไปทางด้านท้ายม้าเสมอ แล้วจึงยกขาหน้าด้านซ้ายให้ม้าพับขาจนสุด ลดระดับลงให้แนวหน้าแข้ง (Cannon) ขนาดกับพื้นแล้ววางลงอย่างนิ่มนวล สลับทำกับขาด้านขวาเช่นเดียวกัน

การเข้ายกขาหลังมาควรยืนหันหน้าไปทางด้านท้ายม้าถ้าหากเราจะยกขาหลังซ้าย ให้เอาลำตัวด้านซ้ายของเราเข้าใกล้ตัวม้า ค่อยๆเอามือซ้ายลูบตามแนวสันหลัง สะโพก ต้นขา แล้วเอามือขวาจับที่ข้อเท้าดึงเข้าหาตัวเราให้ม้างอพับขา ถ้าม้าสลัดขาดิ้นรนก็ใช้แรงรั้งไว้เพียงเล็กน้อยอย่าฝืนแรงมากอาจทำให้บาดเจ็บได้ เมื่อม้ายืนยกขาได้แล้วจึงวางลงอย่างนิ่มนวล

เตรียมตัวให้เรียบร้อยใส่กระโปงหนัง (Apron) ปรับขนาดให้รัดกุม เตรียมอุปกรณ์ในการแคะกีบ (hoof pick) การเข้าหาม้าในครั้งนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ต่างกับครั้งแรก เพราะเราแต่งตัวเปลี่ยนไปม้าอาจจะตกในกับกระโปรงหนังหรืออุปกรณ์อื่นๆของเรา ควรเข้าหาม้าจากด้านหน้าข้างซ้ายให้ม้าเห็นเราได้ชัดเจนและคุ้นเคยเสียก่อน



การยกขาหน้าด้านซ้ายเราควรหันข้างลำตัวด้านซ้ายหน้าหันไปด้านท้ายของม้า เอามือซ้ายลูบที่หัวไหล่ม้า มือขวาจับข้อเท้าม้าแล้วยกขึ้นให้แนวหน้าแข้งขนาดกับพื้น ระวังอย่าบิดขาม้าออกนอกแลวลำตัวจะทำให้ม้าปฏิเสธและดึงขากลับ เอาขาม้าผ่านหว่างขาด้านหลังแล้วเอาหัวเข่าหนีบไว้โดยยืนให้ปลายเท้าชี้เข้า ท่านี้เราจะสามารถแคะกีบ เอามีดหรือคีมตัดแต่ง ตะไบให้ได้ระดับ และตีตะปูได้ อีกท่าหนึ่งในการบังคับขาหน้าคือให้ม้ายื่นขามาด้านหน้าแล้ววางลงบนหน้าขาเพื่อตะไบส่วนด้านข้างของกีบ ขาอีกด้านหนึ่งก็สลับทำเช่นเดียวกัน




การยกขาหลังด้านซ้ายให้เอาลำตัวด้านซ้ายของเราเข้าใกล้ตัวม้า ค่อยๆเอามือซ้ายลูบตามแนวสันหลัง สะโพก ต้นขา แล้วเอามือขวาจับที่ข้อเท้าดึงเข้าหาตัวเราให้ม้างอพับขา วางข้าเท้าม้าตามร่องพับในของขาซ้ายของเรา ย่อขาลงเอาหัวเข่าหนีบกีบม้าไว้เพื่อเราจะสามารถแคะกีบ เอามีดหรือคีมตัดแต่ง ตะไบให้ได้ระดับ และตีตะปูได้ อีกท่าหนึ่งในการบังคับขาหลังคือให้ม้ายื่นขามาด้านหน้าแล้ววางลงบนหน้าขาโดยเราจะหันหน้าเข้าตัวม้า เพื่อตะไบส่วนด้านข้างของกีบ ขาอีกด้านหนึ่งก็สลับทำเช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าการจับบังคับม้าเพื่อใส่เกือกนั้น เป็นการเริ่มต้นการทำงานช่างเกือกที่จะบ่งบอกว่าความสำเร็จในการใส่เกือกม้าตัวนั้นจะยากหรือง่ายเพียงใด ถ้าเราบังคับม้าได้ดีการตัดแต่งตะไบก็จะเรียบสม่ำเสมอ การวางแนวตะปูและการตีตะปูก็จะตีได้อย่างมั่นคง เกือกม้าก็จะสนิทแนบแน่นไม่หลุดหรือคลอนเร็วกว่าเวลาอันควร

วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

New born: แรกเกิด

New born:
แรกเกิด by นายโก้



การฝึกม้าเป็นงานที่ไม่มีคำว่าเริ่มต้น หรือสิ้นสุดเพราะเมื่อคุณเข้ามาสู่โลกของม้าแล้วการสื่อสารของคุณกับม้าก็จะเริ่มต้นขึ้นและจะสื่อสารระหว่างกันต่อเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด สุดแต่ว่าคุณจะรับรู้รับฟังการสื่อสารที่เค้าส่งมาให้หรือไม่เท่านั้นเอง การฝึกม้าให้ได้ม้าที่ดีซักตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลายๆท่านที่อยู่ใกล้ชิดกับม้าทุกวันคงจะพยักหน้า แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถที่เราจะทำได้

แนวทางการฝึกม้าสมัยปัจจุบันจะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับม้า (Horsemanship)  ให้สื่อสารกันง่ายขึ้น และสามารถพัฒนาความสามารถของม้าให้ตรงตามความต้องการของผู้ขี่ได้มากยิ่งขึ้น “หากเราจะเริ่มฝึกม้าซักตัวถ้าเราเริ่มฝึกตั้งแต่ลูกม้าอยู่ในท้องจะทำให้การฝึกม้าง่ายขึ้นมากเพียงไร” แม่ม้าที่มีความสัมพันธ์กับคนในระดับดีลูกม้าที่เกิดมาก็จะมีความสัมพันธ์ในทางที่ดีด้วยหรือไม่

ในการเพาะพันธุ์ม้านั้น ผู้เพาะพันธุ์ (Breeder) ที่มีประสบการณ์จะบอกได้ว่าลูกม้าจากแม่ม้าตัวใดจะมีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร เพราะแม่ม้าที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เลี้ยง มีความไว้วางใจ ไม่ดื้อรั้น ไม่ก้าวร้าว ก็จะให้ลูกม้าที่มีลักษณะนิสัยที่ดีไม่ดื้อ อันเนื่องมาจากการที่ผู้เลี้ยงให้ความรัก ความเอาใจใส่ดูแล อาบน้ำ กราดแปรง ทำความสะอาดแม่ม้าอยู่สม่ำเสมอนั้น ลูกม้าในท้องจะได้รับการสัมผัสนั้นไปด้วย แต่แม่ม้าที่ดื้อ ไม่ไว้วางใจผู้เลี้ยงลูกม้าก็จะดื้อตามไปด้วย อันเนื่องมาจากพฤติกรรมแรกเกิด เรียนรู้จากการกระทำของแม่ (traditional behavior) และพฤติกรรมการเลียนแบบ (immitation)

กระบวนการการคลอดของลูกม้าเมื่อครบกำหนดคลอดประมาณ 334 วันหลังจากผสม (280-400 วัน) แม่ม้าจะแสดงอาการปวดท้อง กระวนกระวาย ไม่กินอาหารไม่กินหญ้า ผู้เลี้ยงจะต้องคอยดูให้ดีว่าใกล้ครบกำหนดคลอดหรือเสียดท้อง (Colic) ถ้าใกล้กำหนดคลอดควรเตรียมคอกคลอดด้วยวัสดุปูรองที่แห้งสะอาด ติดหลอดไฟให้แสงสว่าง ปิดกั้นคอกด้านล่างไม่ให้สัตว์อื่นเข้าไปรบกวนโดยเฉพาะสุนัข ซึ่งจะทำให้แม่ม้าตกใจและกลั้นไว้ไม่ยอมคลอด อันจะส่งผลเสียต่อแม่และลูกม้าตามมา

Imprinting behavior คือพฤติกรรมของลูกสัตว์แรกเกิดเมื่อได้รับสัมผัสจากแม่ก็จะรับรู้และฝังใจ เป็นสัญชาติญาณอย่างหนึ่ง เมื่อลูกม้าเกิดมาออกจากท้องแม่ม้าออกมาแล้ว แม่ม้าจะทำความสะอาดลูกด้วยการเลียเป็นกระตุ้นการหายใจของลูกม้า กัดสายรกแม่ม้าบางตัวอาจจะกินรกด้วยเพราะสัญชาตญาณในธรรมชาติแล้วม้าเป็นสัตว์ที่ถูกล่า กลิ่นคาวของน้ำคร่ำและเลือดจากการคลอดจะนำสัตว์นักล่ามาหาลูกน้อย และทำความสะอาดให้ตัวลูกม้าแห้ง เมื่อลูกม้าตัวแห้งดีแล้วแม่ก็จะส่งเสียง “หึ หึ หึ” (grunt) กระตุ้นให้ลูกม้ายืนขึ้นและลูกม้าจะเริ่มหาหัวนม (seeking teat) เป็นสัญชาติญาณร่วมกับพฤติกรรมการเรียนรู้ ซึ่งมีความสำคัญเพราะถ้าหากลูกม้าไม่ได้ดื่มนมน้ำเหลือง (colostrums) ภายในชั่วโมงแรกลูกม้าอาจจะไม่แข็งแรงไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค และถ้าไม่ได้กินนมแม่ภายใน 3 ชั่วโมงลูกม้าอาจจะตายได้

ลูกม้าเกิดใหม่ (new born) จะเทียบเท่าเด็กทารกจนกระทั่งอายุได้ 3 วัน หลังจากนี้ก็จะเป็นลูกม้า Foal ถ้าเป็นลูกม้าตัวผู้จะเรียกว่า Colt  (โคลท์) จนกระทั่งเคยผสมพันธุ์เป็นพ่อม้าจะเรียกว่า Stallion (สเตเลี่ยน) หรือถ้าหากถูกตอนจะเรียกว่า Geld (เกลด์) และถ้าเป็นลูกม้าเพศเมียจะเรียก Filly (ฟิลลี่) และเมื่อตั้งท้องแล้วเป็นแม่ม้าจะเรียกว่า Mare  (แมร์)

เราสามารถอาศัยพฤติกรรมนี้ในการฝึกม้าได้ด้วย แต่การเข้าไปมีส่วนร่วมของเรานั้นจะต้องไม่รบกวนพฤติกรรมตามธรรมชาติของแม่ม้าและลูกม้า ในม้าที่ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เลี้ยง แม่ม้าอาจจะตื่นกลัวพฤติกรรมความเป็นแม่ผิดปกติ อันจะส่งผลเสียตามมาเช่น แม่ม้าอาจจะละทิ้งลูก ไม่ยอมให้ลูกดูดนม ไม่เลี้ยง หรือไม่ยอมรับลูกม้าเลยก็ได้ การเข้าไปมีส่วนร่วมในช่วงนี้จึงควรจะคอยเฝ้าดูแม่ม้าคลายความวิตกกังวลก่อน เมื่อและจะต้องขออนุญาตจากแม่ม้าก่อนที่จะเข้าไปซึ่งจะดูได้จากภาษากายที่แม่ม้าตอบกลับมา

ช่วงแรกลูกม้าอาจจะตื่นกลัวเราจะต้องใจเย็นส่งเสียงพูดคุย ใช้เสียงในโทนต่ำ อย่าส่งเสียงเอะอะโวยวาย เคลื่อนไหวช้าๆ ให้ลูกม้ามีความไว้ใจ ในช่วงนี้เราอาจจะใช้ผ้าแห้งที่สะอาดเช็ดตัวให้ลูกม้าและตรวจสอบความผิดปกติต่างๆ ตรวจสอบอวัยวะว่าครบสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าหากลูกม้ามีอาการผิดปกติ เช่น หายใจขัดหรือมีเสียงดังในลำคอ เหงือกซีด ตัวสั่น ไม่สามารถลุกขึ้นยืนเองได้ ไม่ถ่ายขี้เทา ควรตามสัตวแพทย์โดยด่วน

หลังจากลูกม้าได้รับสัมผัสแรกจากเราแล้วการเข้าหาแม่ม้าและลูกก็จะง่ายขึ้น และเราก็จะเริ่มการฝึกลูกม้าด้วยวิธีการง่ายๆโดยอาศัยพฤติกรรมทางสังคมของม้า Social grooming คือการทำความสะอาดร่างกายให้กันและกันในฝูง ม้าจะผลัดเปลี่ยนกันกัดแทะขนแผงคอ ตามลำตัวตลอดจนโคนหาง ม้าที่จะทำการแทะเล็มให้กันจะต้องเป็นม้าที่เคยรู้จักกัน มีความเคยชินใกล้ชิดสนิทสนมมาก่อน เราจะเลียนแบบพฤติกรรมนี้มาใช้กับการฝึกลูกม้าของเรา

เริ่มจากการทำความสะอาดแม่ม้าลูกม้าจะอยู่ใกล้ๆแม่และเรียนรู้ว่าเรากำลังดูแลเอาใจใส่แม่ม้านั้น เป็นความสัมพันธ์ที่ดี และเราจะค่อยๆเริ่มทำความสะอาดลูกม้าโดยอาจจะใช้ถุงมือผ้าลูบตามตัวของลูกม้าให้ทั่ว อย่างช้าๆและใจเย็น ผลที่ได้คือลูกม้าจะยอมให้เราจับและควบคุมได้ง่ายไม่ขัดขืน ส่งผลต่อมาเมื่อเราใส่ขลุมและเริ่มจับจูง กระบวนการดังกล่าวจะต้องมีการทำซ้ำ จนลูกม้าเกิดความเคยชินก่อนที่จะเข้าสู่การฝึกขั้นต่อไปด้วยการจับบังคับ

ใส่ขลุมครั้งแรก เมื่อลูกม้าโตอายุได้ประมาณ 3-4 เดือนแล้ว มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เลี้ยงแล้วเราก็จะเริ่มฝึกใส่ขลุม ขลุมที่จะใส่ลูกม้านั้นควรมีขนาดเหมาะสมกับลูกม้า มีตะขอที่สามารถปลดออกได้ทันทีเมื่อต้องการ เราจะใสขลุมให้ลูกม้าครั้งแรกแรกประมาณ 5 – 10 นาที และจะต้องเฝ้าดูอยู่ตลอดจนกว่าจะถอดขลุมออก ลูกม้าอาจจะมีการดิ้นรนเพื่อให้หลุดจากขลุมจึงต้องระมัดระวังอย่าให้ขลุมเกี่ยวติดกับอะไรเด็ดขาด และในครั้งต่อๆไปเราก็จะเพิ่มเวลาให้นานขึ้น ห้ามใส่ขลุมลูกม้าทิ้งไว้เด็ดขาด

ฝึกจูง เมื่อลูกม้าอายุประมาณ 5 – 6 เดือนซึ่งจะใกล้ช่วงหย่านม (weaning) แล้วนั้นเราจะเริ่มฝึกจับจูงโดยใช้สายจูง (lead lop) ที่มีตะขอ (snap ling) และสายจูงผ้านุ่มไม่บาดมือยาวประมาณ 2 – 4 เมตร เริ่มต้นเอาแม่ม้าและลูกม้าเข้าสู่คอกวงกลม (round pen) สำหรับฝึกม้าซึ่งกล่าวถึงไปในฉบับที่แล้ว ให้ผู้ช่วยฝึกจับแม่ม้าให้ยืนนิ่ง ใส่ขลุมให้ลูกม้าแล้วเกาะตะขอสายจูงที่ขลุม ถ้าหากลูกม้าดิ้นรนที่จะหนีจากสายจูง ห้ามปล่อยสายจูงให้เดินตามลูกม้าไปแต่ให้สายจูงตึงอยู่ตลอด เมื่อลูกม้าสงบลงแล้วค่อยๆจับสายจูงให้สั้นเข้า ปลอบด้วยเสียงต่ำอาจใช้คำว่า “ดี ดี ดี”ลูบมือตามแผงคอหลังและสะโพก เมื่อลูกม้ายอมแล้วออกคำสั่ง “หน้าเดิน” ให้ผู้ช่วยฝึกเริ่มจูงแม่ม้าออกเดินตามแนวของคอกวงกลม ลูกม้าก็จะเดินตามแม่และอาจจะเริ่มตื่นและดิ้นรนอีกครั้ง ผู้ฝึกจะต้องค่อยๆปลอบและเดินตามไป เมื่อลูกม้าสงบลงจึงออกคำสั่ง “หยุด” (ลากเสียงยาว) ให้ลูกม้ายืนนิ่งประมาณ 1 นาที และจึงออกคำสั่งให้เดินทำอย่างนี้สลับไป 4 – 5 รอบแล้วจึงจูงแม่ม้าและลูกม้าออกจากคอกวงกลม กลับคอกพัก

การฝึกจูงจะต้องมีการฝึกซ้ำจนกระทั่งลูกม้ายอมรับคำสั่งจากผู้ฝึกไม่ได้เดินตามแม่แต่เพียงอย่างเดียว ทำการฝึกโดยนำแม่ม้าและลูกม้าเข้าสู่คอกวงกลม เริ่มต้นจากการจูงเดินโดยให้แม่ม้าเดินนำ 2 – 3 รอบ แล้ว ให้ผู้ช่วยนำแม่ม้าเข้าสู่งกลางคอกวงกลมแล้วหยุดรอ แต่ผู้ฝึกให้จูงลูกม้าตามแนวของคอกวงกลมต่อไป ถ้าลูกม้าไม่ยอมจึงหยุด แล้วให้ผู้ช่วยนำแม่ม้าจูงเดินนำต่อไป และเริ่มการฝึกใหม่จนกว่าลูกม้าจะยอมทำตามคำสั่งเรา

ในการฝึกม้าจะต้องมีการทำซ้ำและทบทวน ถ้าท่านรู้สึกเหนื่อยหรือเครียดมากก็ควรจะหยุดพัก และหลังจากผ่อนคลายจึงเริ่มการฝึกใหม่ ท่านควรจะมีสมุดบันทึก (Log book) เพื่อบันทึกข้อมูลว่าวันนี้เราได้ฝึกอะไรกับลูกม้าตัวนี้ไปแล้วบ้างมีความก้าวหน้าในการฝึกหรือไม่อย่างไร เพื่อนำมาแก้ไขการฝึกในครั้งต่อไป ฉบับหน้าเราจะเริ่มหย่านมลูกม้า โปรดติดตามตอนต่อไป


ตารางแสดงพฤติกรรมหลังคลอดของลูกม้า
เมื่อคลอด ถุงรกขาด หายใจ และปรับอุณหภูมิร่างกาย แม่จะเลียขนลูกให้แห้งและกัดสายรก
หลังคลอด 5- 10 นาที ขยับตัวพยายามลุกขึ้นยืน
หลังคลอด10-60 นาที ยืนได้มั่นคงไม่ล้ม
หลังคลอด 40 นาที มองเห็นและได้ยินเสียง
หลังคลอด 30-120 นาที หาเต้านม ดูดนม
หลังคลอด 30 นาที พฤติกรรมการสำรวจสิ่งแวดล้อม flehmen
หลังคลอด 100 นาที พฤติกรรมการเล่น
หลังคลอด 120 นาที ขับถ่ายปัสสาวะ


วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Horse Trailers manual

Horsemanship: Horse Trailers manual
การใช้รถพ่วงม้า by นายโก้

ฉบับที่แล้วเราคุยกันเรื่องรถพ่วงม้าที่มีใช้กันทั่วไปในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยมีใช้แบบเดียวคือ หัวต่อคอเต่า (Bumper pull trailer) ในฉบับนี้เราจะมาคุยกันในเรื่องการใช้งานรถพ่วงแบบหัวคอเต่า การขับขี่ให้ปลอดภัย จุดที่ต้องให้ความสำคัญ และการบำรุงรักษา

Bumpers pull trailer มีลักษณะข้อต่อระหว่างรถยนต์ต้นกำลังและรถพ่วง เป็น ภาษาช่างเรียก “คอเต่า” มีการทำงานเป็นแบบหัวยืดหด เมื่อรถกระบะหยุดรถหรือชะลอความเร็ว รถพ่วงม้าจะมีแรงเฉื่อยจากน้ำหนักตัวรถและน้ำหนักบรรทุก ดันข้อต่อให้หดลงและส่งแรงหรือสัญญาณไปที่ระบบห้ามล้อของรถพ่วง ทำให้รถพ่วงลดความเร็วลงไปด้วย ซึ่งลักษณะของข้อต่อจะมีความแตกต่างกันไป ตามการปรับปรุงคุณภาพตามแต่ละยี่ห้อ โดยรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ 4X4 หรือรถยนต์อเนกประสงค์ที่ใช้เป็นต้นกำลังนั้น จะต้องติดอุปกรณ์สำหรับลากจูง Towing bar และติดตั้งสายเต้ารับ เพื่อต่อสัญญาณไฟหยุด ไฟเลี้ยว ไฟถอย ไปสู่รถพ่วงม้า และมีวิศวกรผู้ออกแบบลงนามจึงสามารถขออนุญาตออกเลขทะเบียน ตามกฎหมายของการจราจรทางบก
ตรวจสอบ ก่อนใช้งานรถพ่วงม้า ไม่ว่าเราจะคุ้นเคยหรือใช้งานมานานเพียงไร อย่าข้ามขั้นตอนนี้ไปเด็ดขาด เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วเราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ ทั้งความเสียหายต่อชีวิตเรา ชีวิตม้า ทรัพย์สิน และความเสียหายของผู้อื่น

จุดเชื่อมต่อ ก่อนที่จะเชื่อมต่อระหว่างรถยนต์และรถพ่วง จะต้องตรวจสอบจุดต่อของชุดลาก (Towing bar) ซึ่งต่ออยู่กับรถยนต์ต้นกำลังว่า น๊อตทุกตัวอยู่ในสภาพเรียบร้อยไม่หลวมคลอน หัวต่อบอลอยู่ในสภาพดีไม่บุบยุบ มีจาระบีหล่อลื่นเล็กน้อย เมื่อนำรถพ่วงม้ามาเชื่อมต่อแล้ว ตรวจสอบว่าสบกันได้ดี ไม่หลุดลอย ต่อโซ่ป้องกัน หรือบางรุนอาจจะใช้ลวดสลิง แล้วต่อขั้วสัญญาณไฟให้เรียบร้อย
สัญญาณไฟ หลังจากเชื่อมต่อรถพ่วงม้าเข้ากับรถยนต์แล้ว ต้องตรวจสอบสัญญาณไฟเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ขอเน้นจุดนี้เพราะรถยนต์บางคันแยกระบบไฟเลี้ยว ออกจากระบบไฟขอทางซึ่งจะกระพริบทั้งสองดวง ถ้าหากตรวจสอบแต่ไฟขอทาง อาจจะลืม ตรวจสอบไฟเลี้ยวได้ ตรวจสอบไฟท้าย ไฟเบรก และไฟถอยหลัง ให้เรียบร้อย เพราะการเดินทางบนท้องถนน การให้สัญญาณไฟจราจรมีความสำคัญมาก ยิ่งเราลากรถพ่วงด้วยแล้วเราอาจจะมองรถที่วิ่งตามหลังมาได้ลำบาก รถคันหลังจะทราบจากสัญญาณไฟของเราเพียงอย่างเดียว
ระบบล้อ เป็นจุดที่ต้องให้ความสำคัญทั้งความดันลมยาง ซึ่งผู้ใช้รถจะต้องทราบว่า รถพ่วงม้าที่ท่านใช้จะต้องเติมแรงดันลมยางเท่าไรเพื่อที่จะบรรทุกม้าได้นิ่มนวล ลมยางที่แข็งเกินไปจะทำให้รถกระด้างกระเด้งกระดอน เมื่อเคลื่อนย้ายม้าไปแข่งขันอาจจะทำให้ม้าเจ็บข้อเท้าไม่สามารถแข่งขันได้ ลมยางที่อ่อนจะทำให้โครงสร้างยางเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ทนทานยาวนาน หรือถ้าหากวิ่งในทางที่ยาวไกลอาจจะทำให้ยางแตกได้ และต้องตรวจสอบว่าระบบห้ามล้อทำงานปกติ อย่าลืมว่าเมื่อเราลากรถพ่วงแล้ว เราไม่สามารถหยุดรถได้กะทันหัน จะต้องมีระยะปลอดภัยก่อนที่รถจะจอดสนิท
กระจกมองหลัง เป็นสิ่งที่ผู้ขับมักจะมองข้าม เพราะคิดว่าตนเองขับรถอยู่เป็นประจำ แต่เมื่อเราจะลากรถพ่วงแล้วควรจะตรวจสอบกระจกมองหลังทุกครั้งว่ากระจกสามารถมองได้ทั่วถึงทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ถ้าหากกระจกเล็กเกินไปอาจจะต้องติดตั้งกระจกส่องหลังเสริมเข้าไปด้วย
ความเร็ว เมื่อเราขับรถพ่วงม้าเราจะต้องออกตัวอย่างช้า เพื่อป้องกันไม่ให้ม้าเสียหลักล้มหรือเหยียบขาตัวเองบาดเจ็บ ความเร็วบนถนนลูกรังหรือทางชนบท ไม่ควรเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วบนถนนลาดยาง ไม่ควรเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วบนทางหลวง ไม่ควรเกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และใช้ถนนเลนซ้าย



ทางแยก เมื่อขับรถพ่วงจะต้องมีสติ เมื่อถึงทางเลี้ยวหรือทางแยก เราจะต้องเผื่อระยะให้กับรถพ่วงในการเข้าโค้งด้วย อย่าตัดเลน เพราะรถพ่วงอาจจะไปเบียดรถยนต์คันอื่นหรือรถจักรยานยนต์ได้ หรืออาจจะปีนเกาะกลางถนน ตามรูป

วงเวียน ให้รถในวงเวียนไปก่อน เมื่อขับรถเข้าสู่วงเวียนจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง เพราะตามหลักสากลจะต้องให้รถที่อยู่ในวงเวียนไปก่อน แต่ในประเทศไทยจะต้องระมัดระวัง
แซง เมื่อมีความจำเป็นต้องขับรถพ่วงแซงรถคันอื่นจะต้องระมัดระวัง ให้สัญญาณไฟเลี้ยวขวา ลดเกียร์ลง เร่งเครื่องแซงให้พ้นรถด้านซ้าย ก่อนจะเข้าเลนซ้ายต้องดูระยะว่าเหมาะสมแล้วจึงเข้าเลนซ้าย
ถอยหลัง การขับรถพ่วงถอยหลังนั้นจะต้องใช้ประสบการณ์ เริ่มต้นการฝึกด้วยการถอยหลังให้ตรง ถ้าหากรถพ่วงม้าถูกสร้างขึ้นมาอย่างดีจะถอยได้ตรงเมื่อล้อรถต้นกำลังตั้งล้อตรง รถพ่วงจะไม่บิดส่ายไปมา ถอยหลังอย่าใจร้อน คานหน้ารถพ่วงหลายคันหักงอจากการถอยหลัง กรุณาดูจากภาพประกอบ
การบำรุงรักษา โดยทั่วไปรถพ่วงจะมีจุดให้อัดจาระบีในส่วนที่เคลื่อนที่และจำเป็นต้องได้รับการหล่อลื่น เช่น หัวบอล ครอบหัวบอล คอเต่า ลูกปืนล้อ หูห้อย โตงเตง เป็นต้น ตรวจสอบระห้ามล้ออยู่เสมอ ตรวจสอบลมยางทุกครั้งที่ใช้รถ เพียงเท่านี้ท่านก็จะให้รถพ่วงของท่านอย่างมีความสุข พาครอบครัวและม้าที่ท่านรักเดินทางได้อย่างปลอดภัย

สุดท้ายก่อนเกินทางทุกครั้ง ต้องตรวจสอบใบอนุญาตขับขี่ สมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ สมุดคู่มือทะเบียนรถพ่วง กรมธรรพประกันภัยของรถยนต์ และรถพ่วง รวมไปถึงใบอนุญาตเคลื่อนย้ายม้าของกรมปศุสัตว์ ติดไปด้วยทุกครั้ง สวัสดี

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Horse Training

Horse Training
“เริ่มต้นการฝึก” by นายโก้

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่านฉบับนี้ก็ขอเปิดประเด็นใหม่ขึ้นมาในหัวเรื่อง “การฝึกม้า” เป็นคำง่ายๆที่ผู้เลี้ยงม้าทุกคนต้องพบเจอ แต่จะมีซักกี่คนที่เข้าใจลึกซึ้งในการฝึกม้าเพื่อให้ได้ม้าที่ดีมาใช้งาน การฝึกม้าเป็นศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่โบราณ หลังจากมนุษย์จับม้าป่าตัวแรกมาใช้งาน นั่นเป็นการฝึกม้าครั้งแรกเมื่อ 5,000 กว่าปีล่วงมาแล้ว ตำราฝึกม้าอันโด่งดังถูกเขียนขึ้นโดยนักปราชญ์ชาวกรีกชื่อว่า “XENOPHON” (เซโนฟรอน) กล่าวถึงการฝึกม้าอย่างครอบคลุม การฝึกม้าในปัจจุบันมีการฝึกม้าหลากหลายรูปแบบ ตามแต่ภูมิประเทศและตามแต่ลักษณะการใช้งาน โดยจะขอจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆสองประเภทอันได้แก่ การฝึกม้าแข่ง และการฝึกม้าขี่
ม้าแข่ง (Racing horse) เป็นม้าที่มีการนำมาใช้งานในการแข่งขันเพื่อความเร็ว แสดงถึงศักยภาพของตัวม้าออกมาอย่างเด่นชัด โดยจะต้องมีการฝึกฝนฝึกซ้อม ลักษณะการฝึกจะเป็นการฝึกเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางการออกกำลังกาย การฝึกเสริมสร้างกล้ามเนื้อ การใช้พลังงาน ระบบไหลเวียนโลหิตอันได้แก่หลอดเลือดและหัวใจ การฝึกความอดทดจากการหายใจทั้งแบบใช้ออกซิเจนและไม่ใช้ออกซิเจน ภาษาม้าแข่งเรียกว่า ก๊อกสอง จะเห็นได้ว่าผู้ขี่ไม่ได้บังคับม้าอย่างเต็มที่


การฝึกม้าขี่ (Riding horse) เป็นม้าที่ฝึกมาเพื่อขี่ การใช้งานและการแข่งขันจะเป็นการประสานงานระหว่างม้าและผู้ขี่ อันจะทำงานร่วมกันระหว่างหัวใจสองดวง เพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามต้องการ เช่น การขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง โดยผู้ขี่จะเป็นผู้ควบคุมจังหวะการก้าวเท้าของม้าในทุกจังหวะ เพื่อให้ม้าวิ่งเข้าสู่เครื่องกระโดดอย่างถูกต้องเหมาะสมตรงตามแผนที่วางไว้ การใช้งานม้าในชีวิตประจำวัน การขี่ม้าเพื่อพักผ่อน ซึ่งจะต้องมีความปลอดภัยในการขี่ม้า

การฝึกม้าที่ผู้เขียนจะเขียนต่อไปจะเป็นการฝึกม้าเบื้องต้น เพื่อให้ได้ม้าขี่ไว้ใช้งาน ซึ่งอาจจะไม่ได้มุ่งเน้นในด้านกีฬาใดกีฬาหนึ่ง แต่จะมุ่งให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนและม้า (Horsemanship) อันจะทำให้ผู้เลี้ยงม้าโดยทั่วไปมีความเข้าใจในสัญชาตญาณ ความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ และพฤติกรรมของม้า เพื่อส่งเสริมให้เกิดสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี (Animal welfare) ต่อม้าทุกๆตัว เราจะเตรียมความพร้อมในการฝึกม้า อันมีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วนได้แก่ ม้า สถานที่อุปกรณ์ และผู้ฝึก

ม้า ที่เราจะเอามาฝึกนั้นเราควรจะมีการเลือกม้าที่เหมาะสมต่อการใช้งาน โดยจะมีหลักในการเลือกม้าอาทิ ม้าที่มีพันธุ์ดี (Pedigree) ประวัติความสามารถของพ่อแม่หรือพี่น้องที่ทำไว้ รูปร่างดี มีความสมบูรณ์ทางกายภาพ (Conformation) ไม่เป็นม้าที่พิการ โดยเฉพาะส่วนของกีบเท้า ข้อต่อ กระดูกท่อนขา เสถียรภาพทางอารมณ์ ความร่วมมือ และความตั้งใจในการเรียนรู้รับคำสั่ง (Coordination) แต่อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วในประเทศไทย ซึ่งจำนวนประชากรของม้าที่มีน้อยทำให้เราไม่ค่อยมีตัวเลือกมากนักที่จะคัดเลือกม้าที่ดีเข้าสู่ระบบการฝึก ผู้เลี้ยงที่มีม้าพันธุ์ดีจึงจะต้องเน้นในการเลือกหาโรงเรียนเพื่อฝึกสอนม้าของตนเองให้มีความสามารถที่ดี ตามสายพันธุ์ สายพันธุ์จะบ่งบอกความสามารถของม้าว่า ม้าตัวนั้นเหมาะสมที่จะทำงานประเภทใดเป็นพิเศษ ผมขอยกตัวอย่างสายพันธุ์ม้าที่เลี้ยงในบ้านเรามาเป็นตัวอย่าง

ม้าแข่งพันธุ์โทโรเบรท (Thoroughbred) เป็นม้าที่ถูกคัดพันธุ์ขึ้นมาในประเทศอังกฤษกว่า 200 ปี เพื่อแสดงความสามารถในการวิ่งเร็วที่สุด ในสนามแข่งขันความเร็ว (Race track) ในระยะที่มีการจัดการแข่งขัน ความอดทนของม้าพันธุ์นี้ยังนำมาใช้แข่งขันในกีฬาอื่นๆอีกเช่น กีฬาล่าสัตว์ (Hunting) กีฬาขี่ม้าข้ามเครื่องกีดขวางในภูมิประเทศ (Eventing) แต่ม้าพันธุ์นี้โดยส่วนใหญ่จะเกิดและถูกเลี้ยงในคอกม้าอย่างใกล้ชิดทำให้มีความบอบบางกว่าพันธุ์อื่นจึงต้องดูแลเอาใจใส่มาก

ม้าอาราเบียน (Arabian horse) เป็นม้าสายเลือดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีถิ่นกำเนิดในทะเลทราย มีความอดทนสูง เดินทางหากินได้ไกลในทะเลทราย จึงมีความนิยมที่นำมาแข่งขันระยะไกล (Long distance) และยังมีความสามารถในกีฬาที่หลากหลาย และนิยมนำมาผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อให้เกิดม้าที่มีสมรรถนะความสามารถอดทนสูง มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ แต่ลักษณะพิเศษของม้าพันธุ์นี้คือความรักเจ้าของ

ม้าอเมริกันควอเตอร์ฮอร์ส (American Quarter horse) เป็นม้าที่ถูกสร้างสายพันธุ์ขึ้นมาเพื่อใช้งานหนักในยุคบุกเบิกตะวันตก ของประเทศสหรัฐ ร่างกายกำยำแข็งแรง มีความมั่นคงทางอารมณ์ ฝึกสอนได้ง่าย เหมาะกับการขี่ใช้งานทั่วไป มีความสามารถในการวิ่งเร็วที่สุดในระยะ 1 ใน 4 ไมล์ (Quarter mile) ในปัจจุบันถูกนำมาแข่งขันกีฬาระยะสั้น (Gymkhana) มากมายหลายชนิดกีฬา เช่น ขี่ม้าต้อนวัว ขี่ม้าอ้อมถัง ขี่ม้ายิงปืน ฯลฯ

ม้าไทยพื้นเมือง (Thai native horse) เป็นม้าพื้นถิ่นในประเทศไทยและใกล้เคียง ตัวเล็กคล่องแคล่วว่องไว สามารถนำไปใช้งานได้ทั่วไป แต่มีความมั่นคงทางอารมณ์ต่ำ ทำให้ยากต่อการฝึก และการจดจำแบบฝึก แต่ในความเห็นของผู้เขียนม้าพันธุ์นี้สามารถฝึกและพัฒนาความสามารถได้ถ้าหากได้รับการฝึกอย่างถูกต้อง

สถานที่ในการฝึกผู้เขียนใช้คอกวงกลม (Round pen) สำหรับฝึกม้ามีความยาวเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 14 เมตร เส้นรอบวงประมาณ 44 เมตร ความสูงอย่างต่ำ 1.5 เมตร มีความมั่นคงแข็งแรงไม่มีสิ่งที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่ตัวม้า อุปกรณ์การฝึกอันได้แก่ ขลุมจูงสำหรับเริ่มต้นฝึกจับจูงม้า ขลุมตีวงสำหรับฝึกตีวงม้าซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างจากขลุมจูงทั่วไป สายขับยาวใช้ฝึกบังคับม้าบนพื้นก่อนที่จะขึ้นหลัง แส้ฝึกม้าไม่ได้ใช้สำหรับตีม้าแต่อย่างใด เราจะใช้ให้สัญญาณแก่ม้า และเครื่องม้าสำหรับขี่ม้า ซึ่งจะกล่าวถึงในระหว่างการฝึกต่อไป

ส่วนประกอบสุดท้ายอันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในการฝึกม้าได้แก่ ผู้ฝึก ผู้ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในการฝึกหรือความล้มเหลวในการฝึก ผู้ฝึกจะเป็นผู้ควบคุมและวางแผนการฝึก โดยเฉพาะม้าใหม่ (Green horse) ซึ่งจะได้รับการสัมผัสจากมนุษย์เป็นครั้งแรก เป็นการฝึกอันจะส่งผลต่อชีวิตของม้าตัวนั้นทั้งชีวิต ถ้าผู้ฝึกสามารถฝึกม้าให้เป็นม้าที่ดี การเลี้ยงดูเอาใจใส่ก็จะสะดวกง่ายดาย แต่ถ้าการฝึกล้มเหลวม้าดื้อไม่ยอมรับคำสั่งม้าตัวนั้นอาจจะมีชีวิตที่ไม่ดี

ผู้ฝึกม้าควรจะมีพรหมวิหาร 4 อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันจะทำให้กระบวนการฝึกม้าเป็นไปอย่างราบรื่น ถ้าหากเกิดความผิดพลาดในการฝึกก็ควรหยุดพัก และวางแผนในการฝึกขั้นต่อไป ผู้ฝึกม้าควรจะศึกษาหาความรู้ในพฤติกรรมของม้า เพื่อที่จะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของม้าที่เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติ พฤติกรรมทางสังคมของม้าว่ามีการจัดลำดับทางสังคมอย่างไร การสื่อสารระหว่างม้าด้วยกันหรืออวจนภาษา (Body langue) ว่าม้าต้องการจะสื่อสารอะไรกับเรา ความสนใจใฝ่รู้อันไม่หยุดนิ่งนี้จะเป็นแรงขับดันที่ทำให้เราสามารถทำการงานสิ่งใดให้ประสพความสำเร็จได้

การวางแผนในการฝึกม้าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการฝึก และประสิทธิผลของม้า เราจะต้องวางแผนการฝึกให้ชัดเจนเป็นลำดับขั้นตอน ข้อแรกกำหนดเป้าหมายความสามารถที่เร้าต้องการจะให้ม้านั้นทำได้ เช่น สามารถขี่ได้ดี มีนิสัยดีบังคับควบคุมง่าย ขึ้นรถเดินทางง่าย เป็นต้น ข้อสองสำรวจม้าของเราตามความเป็นจริงว่าม้าของเราเป็นอย่างไร มีนิสัยอย่างไร ดื้อมาก ดื้อ กระตือรือร้น เรียบร้อย เฉื่อย สุขภาพร่างกายเป็นอย่างไร แข็งแรงดีหรือไม่ รูปร่างสมบูรณ์สมส่วนหรือไม่ ข้อสามหาแนวทางในการฝึกให้เหมาะสมกับลักษณะของม้าที่เป็นอยู่เพื่อให้ได้ม้าที่เราต้องการจะให้เป็น การฝึกจะต้องมีการทำซ้ำมากขึ้นจากปกติหรือไม่ ม้าต้องการออกกำลังกายมากหรือน้อยเพียงไร  ข้อสุดท้าย วางแผนในการฝึกอย่างเป็นลำดับ และเริ่มฝึกม้าอย่างมีความสุข ถ้าท่านรู้สึกเหนื่อยหรือเครียดมากก็ควรจะหยุดพัก และหลังจากผ่อนคลายจึงเริ่มการฝึกใหม่

ในฉบับหน้าเราจะมาเริ่มฝึกม้ากัน ผู้เขียนของแสดงมุทิตาจิตต่อท่านอาจารย์สุโรจน์ ศิริรัตตานนท์ ผู้ให้คำแนะนำในการฝึกม้าและชักนำผู้เขียนเข้ามาสู่โลกของม้า เพื่อที่จะเข้าใจว่าม้าต้องการสื่อสารอะไรกับเรา

ม้าอารเบียน สุดยอดสายพันธุ์อาชา เลือดทรหด

อารเบียน สุดยอดสายพันธุ์อาชา เลือดทรหด

 แปลและเรียบเรียงโดย  ธนพล  ตรงในธรรม
ที่มา -   www. arabianhorses.org.,  Arabian Horse Association 

ชาวเบดูอีน กล่าวขานถึงสายพันธุ์ ที่งดงามนี้ไว้ว่า “ม้าอารเบียนนั้น ไม่เพียงแค่ถูกสรรสร้างให้มีสรีระที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่ยังได้รับการปลูกฝังวิญญาณแห่งความภักดี ต่อผู้เป็นนาย ไว้อย่างที่จะหาไม่ได้จากม้าพันธุใด”

ดังที่ทราบกันอยู่ว่า ม้าอารเบียน มีถิ่นกำเนิดอยู่ใน ดินแดนทะเลทรายแห่งอารเบีย  ดินแดนที่พิสูจน์ธรรมชาติความทรหดของสายพันธุ์ที่มีต่อสภาวะแห้งแล้ง  เป็นที่เลื่องลือในฐานะพาหนะอันแข็งแกร่งในสมรภูมิของชาวอาหรับ เชื่อกันว่า ม้าอารเบียน นั้น คงความเป็น “เลือดแท้” ที่เก่าแก่ที่สุดสายพันธุ์หนึ่งของโลก และยังคงความโดดเด่นทางพันธุกรรม มาไว้อย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

ในทางโบราณคดี ต้นกำเนิดของ สายพันธ์ ม้าอารเบียน ยังเป็นที่ ถกเถียง และไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ว่ามันมีแหล่งกำเนิด จาก บริเวณที่เรียกว่า ที่ลุ่มวงพระจันทร์ (Fertile Crescent) อันมีประเทศซีเรีย ตุรกี อิรัก อิหร่าน ล่องตามลำน้ำ ยูเฟรตีส (Euphrates) ตัดผ่านไปทิศตะวันตกข้าม ซีนาย (Sinai) ไปถึงชายฝั่งประเทศ อียิปต์ ซึ่งเป็นดินแดนที่มีภูมิอากาศและปริมาณฝนเหมาะแก่อาศัย

หรือที่มีนักโบราณคดีอีกฝ่ายเชื่อว่า ต้นตระกูลของสายพันธุ์ น่าจะอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอารเบีย ที่ซึ่งมีแม่น้ำสำคัญถึงสามสายมาบรรจบกัน  ซึ่งพื้นที่ทั้งสองนี้ต่างเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์พอที่จะให้ ม้าอารเบียน คงอยู่ และรักษาสายพันธุ์ให้บริสุทธิ์  สืบทอดคุณลักษณะอันโดดเด่นไว้ได้โดยปราศจากความช่วยเหลือจากน้ำมือมนุษย์ มาตั้งแต่โบราณ  ในขณะที่ส่วนกลางของภาคพื้นทะเลทรายอารเบียน นั้นคงอยู่ในความแห้งแล้งอย่างสาหัสมานับเป็นเวลากว่า 10,000 ปี ซึ่งม้าน่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้

ม้าอารเบียน ปรากฏหลักฐานว่า เริ่มถูกนำมาใช้งานเป็น “ม้าขี่” ในราว 1500 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากที่มนุษย์สามารถจะควบคุมความเลือดร้อนของมันได้  หากแต่ย้อนหลังไปกว่า 3500 ปีก่อน  ม้าอารเบียน ได้รับการขนานนามไว้ว่า เป็น “ผู้สร้างกษัตริย์”  ด้วยความที่พวกมันได้ถูกใช้เป็น ม้าเทียมพาหนะ รับใช้เหล่า ฟาโรต์ ยุคอิยิปต์โบราณในการศึกเผยแผ่อิทธิพลขยายดินแดน  จนจวบสมัยที่จักรวรรดิโรมันเข้ายึดครอง  แต่เรื่องราวอันเรื่องลือของ ม้าอารเบียน  กลับมักจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตชาวเผ่าเร่ร่อนเบดูอีน ผู้เชี่ยวชาญ และรักษาความเป็น “เลือดแท้” ของสายพันธุ์ไว้อย่างเป็นเลิศ    ที่ซึ่ง แม่ม้าอารเบียน นั้นเปรียบได้กับสมบัติล้ำค่าของตระกูล

ม้าอารเบียน มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เคไฮลาน “keheilan”  อันแปลว่า เลือดบริสุทธิ์   ชาวอิสลามเชื่อกันว่า    ม้าอารเบียน คือ ของขวัญจากพระอัลเลาะห์  ประทานมาเพื่อช่วยให้ชาวเบดูอีน สามารถอาศัยอยู่บนดินแดนอันแห้งแล้งที่สุดแห่งพื้นพิภพ   รูปร่างอันสง่างามน่าอัศจรรย์และสีสัน เกี่ยวเนื่องกับ ความเชื่อทางศาสนาอย่างลึกซื้ง

เอกลักษณ์ประจำตัวอันโดดเด่นของสายพันธุ์ม้าอารเบียน ถูกเปรียบไว้อย่างมีความหมาย  ดั่งหน้าผากกว้างเป็นที่ประดิษฐาน “Jibbah” คำอวยพรจาก พระผู้เป็นเจ้า    ช่วงลำคอโค้งดั่งคันศร อันเป็น เปรียบได้กับ “Mitbah” สัญลักษณ์ แห่งความกล้าหาญ   หางที่ชี้ขึ้นและพลิ้วไหว เป็นดั่ง เกียรติยศ   ลักษณะนิสัยถูกแทนด้วยการได้รับความยอมรับจากสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ชาวเบดูอีน ได้รับมอบหมายจาก พระผู้เป็นเจ้า ให้รักษาไว้เป็นอย่างดี  การผสมพันธุ์ม้าข้ามสายพันธุ์ ถือเป็นข้อห้ามอย่างร้ายแรง   หรือแม้กระทั่งม้าในดินแดนทะเลทราย ในเขตอื่นที่ห่างไกลออกไปก็ถูกจัดให้เป็นม้าต่างสายพันธุ์   นี่คือเหตุผลที่ทำให้ สายพันธุ์อารเบียน  คงความเป็น “เลือดแท้” และเก็บคุณลักษณะอันโดดเด่นของสายพันธุ์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น เพราะมันคือ ความภาคภูมิของชาวเบดูอีน ที่ได้รับพรอันยิ่งใหญ่นี้จาก พระผู้เป็นเจ้า

ม้าอารเบียน นั้นจัดไว้เป็น ม้าศึกของชาวเบดูอีน ด้วยความแห้งแล้งของภูมิประเทศ  การสร้างความมั่งคั่งให้แก่เผ่าคือการโจมตี และยึดเอาฝูงปศุสัตว์ของเผ่าอื่นมาเป็นของตนเอง   ซึ่งปัจจัยของความสำเร็จคือ การโจมตีอย่างฉับพลันทันใด ให้ศัตรูไม่ทันตั้งตัว และสามารถถอนตัวได้อย่างรวดเร็ว    ด้วยความนิ่งสงบ  ม้าตัวเมีย มักถูกเลือกนำมาใช้ในหน่วยโจมตี เพราะมันจะไม่ส่งเสียงร้องเหมือนอย่างม้าเพศผู้เมื่อเจอม้าตัวอื่น อันจะเป็นการทำให้ศัตรูรู้ตัวล่วงหน้า  อีกทั้งยังมีความกล้าหาญ  ในการบุกทะลวงและกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางรอบค่ายของศัตรู  รวมทั้งยังมีน้ำอดน้ำทนอย่างมากที่ต้องบุกมาจากที่ตั้งของเผ่าซึ่งอยู่ไกลจากที่ตั้งของศัตรู

ชาวเบดูอีน มีวิถีอันแยบยลในการที่จะทำให้ไม่เกิด “เลือดชิด” ในฝูงม้าของเผ่า นั่นคือการแข่งขันระหว่างเผ่า ที่ซึ่งผู้แพ้จะต้องมอบม้าที่ดีที่สุดของฝูงให้กับผู้ชนะ   อย่างไรก็ตาม ม้าศึกเพศเมียของเผ่าถือเป็นม้าที่ประเมินค่าไม่ได้ หากผู้ใดได้รับ ม้าศึกตัวเมีย มักถือไว้ได้รับของขวัญที่มีเกียรติ และยิ่งใหญ่ที่สุด

ชาวเบดูอีนให้คุณค่ากับม้าที่มีเลือดพันธุ์บริสุทธิ์เท่านั้น และมักจะตั้งชื่อตามตระกูลของหัวหน้าเผ่า หรือ ชีค   และในแต่ละเผ่าก็ มักจะมี สายเลือดบริสุทธิ์ เผ่าละหนึ่งตัวเท่านั้น    มีม้าห้าตระกูลที่เป็นต้นสาแหรกของสายเลือด เรียกว่า “Al Khamsa” ประกอบด้วย “Keheilan, Seglawi, Abeyan, Hamdani และ Hadban” ส่วนสายเลือดรองลงมาได้แก่ “Maneghi, Jilfa, Shuwayman, และ Dahman”  

ในเรื่องราวที่เรื่องลือถึงความห้าวหาญ อดทน  และฝีเท้าจัดจ้าน มักมีชื่อสายเลือดรองของตระกูล “The great Kehilet al Krush, the Kehilet Jellabiyat, และ the Seglawi of Ibn Jedran” ปรากฏอยู่ด้วยเสมอ ม้าในสายนี้เต็มไปด้วยเกียรติประวัติทั้งจากการสงคราม และการแข่งขัน   ลูกหลานม้าเพศเมียในสายเลือดตระกูลนี้จึงเป็นที่ต้องการ และมักจะเปลี่ยนมือจากการถูกขโมย ใช้เป็นสินบน หรือถูกหลอกลวงไป เชื่อว่าหากมีการขายม้าในสายเลือดนี้จะต้องมีราคาที่สูงมาก

ม้าในแต่ละตระกูลนั้นจะมีคุณลักษณะ ที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันดังเช่น ม้าในตระกูล Keheilan จะมี แก้มที่ลึก มีกล้ามเนื้อที่ใหญ่และทรงพลัง มีความสูงโดยเฉลี่ย 15 แฮนด์ มักจะมี สี gray (ขาว) และ chestnut (น้ำตาล)

ม้าในตระกูล Seglawi มีชื่อเสียง ในเรื่องความสะสวยแบบเพศหญิง   มีความรวดเร็วมากกว่าความอดทน ม้าตระกูลนี้ มีกระดูกแข็งแรง หน้าและลำคอยาวกว่า Keheilan มักมีความสูงเฉลี่ย 14.2 แฮนด์ ส่วนใหญ่ จะสี bay (ประดู่)

ม้าในตระกูล Abeyan  ลักษณะคล้าย Seglawi มาก แต่มักจะมีช่วงหลังยาวกว่า ม้าอารเบียน ทั่วไป  ตัวค่อนข้างเล็ก สูง 14.2 แฮนด์  สี gray และมักจะพบมี มาร์คกิ้งสีขาว มากกว่าตระกูลอื่น

ม้าในตระกูล Hamdani  มักจะถูกมองเป็น ม้าเรียบๆ มีกล้ามเนื้อแบนักกรีฑา โครงสร้างกระดูกใหญ่  ส่วนหัวมักจะลาดตรง  ลำคอมีความโค้งน้อย สูงประมาณ 15.2 แฮนด์ เป็นตระกูลที่ใหญ่ที่สุดตระกูลหนึ่ง มักมีสีgray และ bay

ม้าในตระกูล Hanban  ม้าตระกูลนี้ เปรียบเหมือนกับ Hamdani ย่อส่วน  มีความโดดเด่นในเรื่องของความอ่อนโยน  สูงประมาณ 14.3 แฮนด์  มีสี brown (น้ำตาลเข้ม)  และสี bay  อาจมี มารคกิ้งขาว บ้างแต่พบไม่มาก

หลังสงคราม ม้าศึกที่ตกค้างอยู่ มีเหมือนกับที่นักรบตกเป็นเชลยศึก  ม้าอารเบียน จึงได้แพร่กระจายผ่านตุรกีเข้าสู่ยุโรป ซึ่งในยุคก่อนมักจะพัฒนาแต่ม้าตัวใหญ่ที่ต้องรับน้ำหนักเกราะของอัศวินและม้า  จนได้เริ่มหันมามอง ม้าน้ำหนักเบา จนเมื่อเข้าสู่ อังกฤษ  ม้าอารเบียนยังมีสัดส่วนในสายเลือด Thoroughbred ด้วยเช่นกัน ในหลายประเทศที่ ม้าอารเบียน แพร่กระจายเข้าไป คุณลักษณะอันโดดเด่นของมันได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ม้าต่างๆอีกมากมาย อาทิเช่น ยอดม้า Percheron ของฝรั่งเศส ม้าOrloff Trotter ของรัสเซีย

จวบจนปัจจุบันที่ ม้าอารเบียน ได้รับการยอมรับอย่างยิ่งใหญ่  เป็นแรงผลักดันให้ทั้งรัฐบาล  เชื้อพระวงศ์อาหรับ ได้สืบทอดสายพันธุ์ ให้ดำรงไว้ ซึ่งความเป็น อาชาแห่งทะเลทราย   จึงสมควรหวนนึกถึง ชาวเบดูอีน และให้การคารวะในฐานะผู้รักษาความเป็น“เลือดแท้”และวางรากฐานชาติพันธุ์อันโดดเด่นให้กับ “อารเบียน สุดยอดสายพันธุ์ อาชาทรหด”

*เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย  เชื่อกันว่า ม้าเซ็กเทา ม้าชั้นดี ฝีเท้าพันลี้ ขนสีแดงทั้งตัว  ที่ได้ถูกใช้เป็นของกำนัลที่ ตั๋งโต๊ มอบให้ ลิโป้ เพื่อให้ยอมทรยศต่อพ่อบุญธรรม  และต่อมาตกถึงมือ โจโฉ  นำมากำนัลให้ กวนอู เพื่อหวังให้ทรยศ เล่าปี่  เชื่อกันว่า เป็นม้าอารเบียน จากดินแดนเปอร์เซีย*  ที่มา- sextao.blogspot.com

ด้วยความสมบูรณ์แบบของม้าอารเบียน   หลังจากสงครามครูเสดเป็นต้นมา มันจึงกลายเป็นสายพันธ์ที่โจทย์จรรในทุกสมรภูมิ  ความโดดเด่นในเรื่องความกล้าหาญ รวดเร็ว ทรหดอดทน ล้วนเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากม้าศึกของชาวยุโรป ที่มีรูปร่างใหญ่โตเพียงเพื่อรองรับกับ ชุดเกราะอันหนาและหนักของอัศวินและตัวม้า ทั้งที่จริงแล้ว ม้าของชาวยุโรป  ถูกเพาะพันธ์มาเพื่อใช้ในงานกสิกรรม และเทียมเกวียนบรรทุก  มากกว่าที่จะใช้เป็น ม้าศึก   ชาวยุโรป จึงเริ่มให้ความสนใจในการพัฒนา ม้าที่ตัวเล็กลง มีความรวดเร็ว คล่องตัว ไว้ใช้ในกิจการทหารม้า  และนี่คือจุดเริ่มต้นของม้าที่พัฒนาเพื่อใช้ขี่ ยุคใหม่

ในช่วงปี คศ.1683 ถึงปี คศ.1730  ประเทศอังกฤษ ได้นำ พ่อพันธ์ม้าอารเบียน 3 ตัว คือ The Darley Arabian (เดอะ ดาร์ลี่ย์ อาราเบียน),  The Byerly Turk (เดอะ ไบเออรี่ย์  เติร์ก),  The Godolphin Arabian (เดอะ โกดอลฟิน อาราเบียน)  และเริ่มต้นพัฒนา ม้าขนาดกลางอย่างจริงจังและ แพร่หลาย  หนึ่งในสายพันธ์ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและได้รับความนิยมสูงสุดจนถึงปัจจุบันคือ สายพันธ์โธโรเบรด  การพัฒนาสายพันธ์ม้ายุคใหม่ โดยมี ม้าอารเบียน เป็นต้นสายนั้นแพร่หลายไปทั่วยุโรป  ม้ายุคใหม่หลายพันธ์เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ และความนิยมของประเทศที่พัฒนา อาทิ สายพันธ์ ม้าโอลอฟ ทร็อตเตอร์  Orlov Trotter  ของรัสเซีย อันเป็นผลผลิตข้ามสายพันธ์ระหว่าง ม้าอารเบียน  ม้าดัชท์วอร์มบลัด, ม้าเดนิชวอร์มบลัด, อิงลิช ฮาล์ฟบลัด    และในฝรั่งเศส ได้ต่อสายพัฒนาเป็น ม้าเพอร์ชีรอน  Percheron  และในอเมริกา ม้าอารเบียน ได้ก่อกำเนิดสายพันธ์ใหม่ ที่นับเป็นหนึ่งในสายพันธ์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดสายพันธ์หนึ่ง  นั่นคือ ม้ามอร์แกน Morgan

นอกเหนือจากบทบาทในการเป็นต้นสายของม้ายุคใหม่หลายสายพันธ์แล้ว   ม้าอารเบียนเลือดแท้ยังได้รับการสืบทอดมอบคุณลักษณะของยีนที่โดดเด่นอย่างต่อเนื่องในทุกแห่งที่ ม้าอารเบียนไปถึง  ความกล้าหาญ อดทน ฉลาด ตื่นตัว ว่องไว  ล้วนเป็นลักษณะที่เพียบพร้อมครบถ้วนสำหรับใช้เป็น ม้ากีฬายุคใหม่  ทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็นการกระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง  เดรสสาจ   หรือกีฬาที่ต้องการความทรหด อย่างเช่น เอ็นดูแรนซ์  จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ หากจะพบว่า ในการแข่งขันกีฬาขี่ม้าประเภทต่างๆ จะพบว่ามี ม้าอารเบียน เข้าร่วมด้วยเสมอ

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย : ว่ากันว่า สหรัฐอเมริกา อันเป็นประเทศที่มีการใช้ม้าอย่างกว้างขวาง และเป็นแหล่งรวม ม้าชั้นนำทั่วโลก  มีจำนวน ม้าอารเบียนที่ยังคงมีชีวิต  มากกว่า ม้าอารเบียนในประเทศอื่นๆทั้งโลกรวมกันเสียอีก

ด้วยความเคร่งครัดในการสืบทอดสายพันธ์ ม้าอารเบียน ของชาวเบดูอีน  ม้าที่ได้รับการถ่ายทอดยีนเด่น อันเป็นคุณลักษณะประจำตัวของสายพันธ์ ไว้อย่างครบถ้วนเท่านั้นจึงมีสิทธิที่จะให้ลูกได้   และด้วยความเป็นเลือดแท้ดังกล่าว ผู้พัฒนาพันธ์ม้ายุคใหม่ จึงมักเลือกที่จะใช้ ม้าอารเบียน เป็นต้นสายในการผสมข้ามพันธ์ เพื่อให้ลูกม้าที่ได้รับเอายีนเด่นของม้าอารเบียนมาไว้ในสายเลือด   คุณค่าความเป็น ม้าอารเบียน เลือดแท้จึงยังคงเป็นที่ต้องการและได้รับการอนุรักษ์ไว้จวบจนปัจจุบัน



นอกจากความโดดเด่นตามสัญชาตญาณแล้ว  คุณลักษณะเด่นทางกายภาพของ ม้าอารเบียน ที่มองเห็นด้วยสายตาที่จะให้ช่วยชี้ชัดความเป็น ม้าอารเบียน มักจะหนีไม่พ้นลักษณะดังต่อไปนี้
dished head (หน้าจาน)
large eyes (ตาโต)
arched neck (คอโค้งเหมือนคันศร)
flaring nostrils (รูจมูกผาย)
delicate muzzle (กล้ามเนื้อสมส่วน)

การพิจารณารูปพรรณ สัณฐาน ของม้าอารเบียนนั้นหากเปรียบเทียบกับมนุษย์   รูปร่างแบบนักกรีฑา คือลักษณะกายภาพ ที่เหมาะเจาะลงตัวที่สุด  กล้ามเนื้อที่สมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตมโหฬาร  ความแข็งแรงไม่ได้ขึ้นอยู่กับส่วนสูงของม้า   ลักษณะกายภาพอันโดดเด่นของ ม้าอารเบียน ล้วนเอื้ออำนวยต่อการทำงานของร่างกายอย่างสมบูรณ์แบบ  อาทิ

- ช่วงศีรษะสั้น (short),  หน้ารูปจาน-ช่วงคางกลมเหมือนจาน (dished head) , รูจมูกผาย ( flaring nostrils) ซึ่งช่วยให้หายใจรับอ็อกซิเจนได้ดี

- ลำคอโค้งดั่งศันศร (arched neck)  ช่วยให้หลอดลมสามารถนำอากาศเข้าปอดได้อย่างสะดวก คล่องตัว
- อกลึก (deep chest cavity), ซี่โครงขยายตัวได้ดี (well-sprung ribs)  ซี่โครง 17 คู่ (17 ribs) ในขณะที่ ม้าสายพันธ์อื่นมี 18 คู่  ซึ่งหมายถึงปอดจะมีพื้นที่ขยายตัวมากขึ้น

- กระดูกสันหลังช่วงสะโพก 5 ข้อ   (5 lumbar vertebrae) น้อยกว่าสายพันธ์อื่น 1 ข้อ  และ  มีกระดูกท่อนหาง 16 ท่อน (16 tail bones) ในขณะที่ม้าพันธ์อื่นมี 18 ท่อน  ล้วนเป็นลักษณะทางกายภาพที่ ทำให้ ม้าอารเบียน มีหางติดสูง และตั้งขึ้นอย่างสง่างาม
- และเชื่อกันว่า ความที่หน้าผากบริเวณระหว่างตาทั้งสองข้าง หรือ Jibbah มีพื้นที่มาก ทำให้มีสมองที่เฉลียวฉลาด จดจำสิ่งต่างๆได้ดีและนานกว่า ตอบสนองได้เร็ว ตื่นตัว และมีความเป็นมิตรมากกว่าม้าใดๆในโลก

ม้าอารเบียน เป็นม้าที่มีอายุยืนกว่าม้าสายพันธ์อื่น  ม้าอารเบียนสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้จนถึงอายุ 20 ปี   บางตัวอาจมีอายุยืนถึง 30 ปี

ในการแข่งขัน เอ็นดูแรนซ์ ที่จัดขึ้นในระดับโลกนั้น ม้าอารเบียน บ่อยครั้งจะได้รับการบันทึกไว้ในฐานะที่สามารถจบการแข่งขัน 100 ไมล์ โดยใช้เวลาไม่ถึง 10 ชั่วโมงด้วยซ้ำไป

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความสมบูรณ์แบบที่มีอยู่ในสายเลือด ไม่ว่าด้านสติปัญญา หรือ กายภาพ ล้วนเอื้ออำนวยต่อความเป็นสุดยอดอย่างแท้จริง  อีกทั้งการที่สายพันธ์ของ ม้าอารเบียน ได้ตกอยู่ในมือของผู้ที่รู้ซึ้งถึงคุณค่า จึงได้รับการอนุรักษ์สืบทอดความเป็นเลือดแท้ และรักษาคุณลักษณะอันโดดเด่นไว้อย่างครบถ้วนตลอดมา  ดังนั้น การที่ได้เป็นเจ้าของ ม้าอารเบียน สักหนึ่งตัว  สำหรับผู้ที่ศึกษาชาติพันธ์ของ ม้าอารเบียน แล้ว จึงเปรียบเสมือนดั่งการได้รับ สมบัติล้ำค่า  และยิ่งถ้าได้เป็นเจ้าของ ม้าอารเบียน ที่แสดงออกซึ่งความเป็นสุดยอดของสายพันธ์อย่างครบถ้วนทุกประการแล้วไซร้  คงเทียบได้กับการได้รับ มรดกแห่งมนุษยชาติ เลยทีเดียว

Horse Shoe

Horse Shoe
“เกือกม้า” by นายโก้

ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้วเรื่องความสำคัญของกีบม้า ดังคำกล่าวที่ว่า “No Hoof No Horse” ในความหมายนั้นแสดงถึงความสำคัญของกีบม้าที่จะทำให้ม้าดำรงชีวิตโดยปกติสุข และสามารถรับใช้เจ้านายได้อย่างเต็มความสามารถ

ตั้งแต่ม้าถูกมนุษย์เอามาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงโดยชาวอียิปต์เมื่อ 3000 ปีก่อนคริสตการ และฝึกม้ามาใช้งานในการรบกีบเท้าม้าที่รับงานหนักจึงต้องได้รับการดูแลยิ่งขึ้น เกือกม้าในยุคแรกเริ่มจะใช้หญ้าแห้งฟางแห้งมาถักทอเป็นแผ่นรองเท้าม้าแล้วใช้เชือกมัดไว้ ยุดต่อมาชาวอียิปต์ใช้หนังสัตว์ฟอกฝาดนำมาเย็บเป็นถุงสวมที่กีบเท้าม้าและใช้เชือกมัดสำหรับม้าที่ใช้ในการสงคราม เกือกม้าที่ทำด้วยโลหะเป็นครั้งแรกถูกสร้างขึ้นในสมัยโรมันเรียกว่า “Iron Hippo sandal” ซึ่งทำให้กองทัพโรมันมีความเกรียงไกร ยุคมองโกลได้มีการพัฒนาเกือกม้าให้ใช้กับตะปูตอกเข้าไปที่ผนังกีบม้า ทำให้มีความทนทาน ทนต่อสภาพการใช้งานที่ธุรกันดาร คล่องแคล่ว ว่องไว ส่งผลกองทัพม้ามองโกลของเจงกีสข่านพิชิตได้กว่าครึ่งโลก
ปัจจุบันเกือกม้าที่เราพบเห็นทั่วไปก็จะมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ เกือกม้าที่ตีขึ้นรูปด้วยมือ และเกือกม้าสำเร็จรูปที่ถูกผลิตขึ้นมาให้มีหลายขนาด เหมาะกับการเลือกใช้งานต่างๆกัน จากพัฒนาการอันยาวนานการใส่เกือกม้า ได้มีการสร้างเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการใส่เกือกม้า ซึ่งจะได้แนะนำอุปกรณ์ที่จำเป็นในการใส่เกือกม้าได้แก่

กระโปรงหนัง (Apron) ลักษณะคล้ายผ้ากันเปื้อนทำจากหนังสัตว์ที่มีความหนา เพื่อป้องกันร่างกายของช่างเกือกจากการเตะของม้า หรือการดึงขากลับ กระโปรงหนังมีความสำคัญเมื่อเราจะต้องตีตะปูเข้าผนังกีบม้า ก่อนที่เราจะหักหางตะปูถ้าม้าสะดุ้งแล้วชักขากลับ ถ้าไม่ใส่กระโปรงหนังก็จะเกิดอันตรายจากหางตะปูที่ลากผ่านหว่างขาได้

ที่แคะกีบ (Hoof pick) ใช้แคะกีบเอาเศษดินเศษหินออกก่อนที่จะเริ่มแต่งกีบ บางคนมักง่ายเอามีดปาดกีบมาแคะขูดดินและหินออกจากกีบม้าก็จะทำให้มีดเสียความคมไปโดยใช่ที่
เหล็กตัดตะปู (Clinch cutter) ทำมาจากเหล็กกล้าลักษณะด้านหนึ่งคล้ายใบขวานใช้ตัดหางตะปูที่ถูกพับเพื่อถอดเกือกเก่าออกจากกีบม้า อีกด้านหนึ่งเป็นลักษณะคล้ายลิ่มเอาไว้ขยายรูตะปูที่เกือกม้าหลังจากทุบให้เข้ารูปกับกีบม้าตามต้องการแล้ว บางครั้งก็ใช้ประโยชน์ในการแคะกีบม้าได้อีกด้วย
คีมถอดเกือกม้า (Shoe puller) เป็นคีมตัวใหญ่ยาวประมาณ 12 นิ้วคล้ายคีมปากนกแก้วแต่ไม่มีความคม ใช้ดึงถอดเกือกเก่าออกจากกีบม้า ช่วยให้ดึงออกมาง่ายในมุมตรงกีบไม่แตกร้าว
คีมตัดกีบ (Hoof nipper) เป็นคีมตัวใหญ่ยาวประมาณ 12 นิ้วขึ้นไป ความยาวของด้ามที่ยาวขึ้นจะช่วยผ่อนแรงในการตัดผนังกีบ ใช้ตัดแต่งผนังกีบให้ได้รูปทรงตามความต้องการ
มีดแต่งกีบ (Hoof knife) เป็นมีดลักษณะพิเศษมีความคมมากปลายโค้งเข้าเพื่อให้ตัดเซาะเข้าร่องของบัวได้ง่าย มีดแต่งกีบของช่างเกือกจะมีด้านคมเพียงด้านเดียวตามความถนัดของช่างเกือก ซึ่งการใช้มีดแต่งกีบมีรูปแบบการใช้อย่างเฉพาะ


ตะไบแต่งกีบ (Rasp) ตะไบแต่งกีบเป็นตะไบที่ถูกสร้างขึ้นมาเฉพาะเท่านั้น ตะไบทั้งสองด้านจะต้องราบเรียบเสมอกันไม่โค้งนูน ด้านหนึ่งจะมีด้านตะไบละเอียดสำหรับการตะไบเพื่อปรับให้พื้นกีบสม่ำเสมอ อีกด้านเป็นตะไบหยาบใช้สำหรับงานที่ต้องตะไบพื้นกีบออกต่างกันมาก
ค้อนตีตะปู (Driving hammer) เป็นค้อนผลิตจากโลหะผสมพิเศษทำให้หัวค้อนมีน้ำหนักแต่ขนาดเล็ก ด้านที่หักหางตะปูมีความเฉพาะใช้หักหางตะปูตอกเกือกเท่านั้น
ค้อนตีเกือก (Hammer) ลักษณะคล้ายค้อนปอนด์แต่หัวค้อนถูกออกแบบมาเฉพาะให้มีด้านหนึ่งเรียบ เพื่อให้ตีเกือกได้เข้ารูปราบเรียบไม่บิดงอ อีกด้านหนึ่งมนเล็กน้อบเพื่อการทุบขอบเกือกตามความโค้งไม่ให้เป็นมุมกดพื้นกีบจนเกิดรองช้ำ การเลือกค้อนตีเกือกให้เหมาะกับช่างเกือก เมื่อกำหัวค้อนไว้ในมือแล้วด้ามค้อนควรจะยาวถึงข้อพับ จะทำให้การออกแรงเมื่อใช้งานเหมาะสม

ทั่งตีเกือก (Anvil) ทั่งตีเกือกเป็นแท่นเหล็กใช้รองรับการตีดัดเกือกให้ได้รูปตามต้องการ มีส่วนประกอบที่สำคัญ แท่น (face) รองรับการตีเกือกให้เรียบเสมอกัน และทุบเกือกให้ห่อเข้า โคน (table) เป็นช่วงต่อของเขากับแท่น ใช้ขยายเกือกให้บานออกแบบสมมาตร เขา (horn) ใช้รองรับการตีเกือกให้โค้งได้รูป รูเหลี่ยม (hardy hole) รูสำหรับดัดหางเกือกให้โค้งเข้ารองรับส่วนส้นกีบ
นอกจากอุปกรณ์ที่กล่าวมานี้ยังมีอุปกรณ์อื่นๆอีก เช่น มีดตัดคีมพับตะปู (Clincher) คีมจับเกือก (Tong) คีมถอดตะปู (Nail puller) คีมตรวจกีบ (Hoof tester) เหล็กเจาะรูเกือกม้า (Pitcher) ที่ลับคมมีด (Knife shaper) แผ่นยางรองกีบ (Sole pad) แผ่นรองส้นกีบ (Wedge bar) เตาเผาเกือก (Forge) ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการแต่งกีบและใส่เกือกม้า ให้ช่างเกือกมีความปลอดภัยในการทำงาน และยังลดเวลาในการทำงานอีกด้วย ทำให้ช่างเกือกสามารถใส่เกือกม้าได้หลายตัวในหนึ่งวัน
ตะปูตีเกือก (Horseshoe nail) ตะปูตีเกือกมีมากมายหลายแบบ และหลากหลายโลหะที่ผสมลงไป ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ตัวเลขหลังรหัส เช่น E4 หมายถึง ตะปูตีเกือก หัวเหลี่ยมธรรมดา ผสมตะกั่ว ความยาว 4 เซนติเมตร

เกือกม้า (Horseshoe) เกือกม้าโดยทั่วไปก็จะมีรูปร่างโค้งตามกีบม้าที่เราเคยเห็นกันอยู่ แต่ก็จะมีเกือกที่มีลักษณะพิเศษที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน หรือการแก้ไปความผิดปกติของโครงสร้างกีบม้าได้แก่ เกือกม้ารูปไข่ (Egg bar) ใช้สำหรับม้าที่มีส้นกีบต่ำ หรือผนังกีบไม่แข็งแรงต้องกระจายน้ำหนักแกไปทางด้านหลังด้วย ในกรณีม้าที่เป็นไข้ลงกีบ (Laminitis) เกือกม้ารูปหัวใจ (Heart bar) ใช้สำหรับม้าที่มีความผิดปกติที่กีบบัวไม่สามารถลงน้ำหนักได้ หรือเกิดการช้ำที่กีบบัว นอกจากนี้ยังมีเกือกม้าที่ใช้เฉพาะกีฬาอีกด้วย

เรื่องของเกือกม้ามีรายละเอียดมากมาย การใส่เกือกให้ม้าจะเป็นการเพิ่มประโยชน์ในการใช้งานให้แก่ม้ามากยิ่งขึ้น แต่การใส่เกือกม้าที่ไม่ถูกต้องนั้น ก็จะทำให้เกิดอันตรายให้แก่ตัวม้าถึงตายได้ การตีตะปูเข้าผนังกีบถ้าตีผิดล้ำจากแนวเส้นขาว (White line) เข้าไปก็จะเข้าสู่พื้นกีบซึ่งมีเส้นเลือดมาเลี้ยงเกิดการอักเสบและติดเชื้อได้ การใส่เกือกม้าควรใส่โดยช่างเกือกที่มีความระเอียดรอบคอบในการทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจากการใส่เกือกม้าขึ้นมา


Horse Trailers

Horsemanship: Horse Trailers
รถพ่วงม้า by นายโก้


ในประเทศไทยเริ่มมีความนิยมใช้รถพ่วงขนส่งม้ามากขึ้น เนื่องด้วยเพราะความสะดวกในการเคลื่อนย้ายม้าขึ้น-ลงง่ายกว่ารถบรรทุกขนาดใหญ่ ประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อเคลื่อนย้ายจำนวนน้อยตัวจำนวนน้อยตัว รถที่ถูกออกแบบมาสำหรับขนส่งม้าโดยเฉพาะ จะมีความปลอดภัยสำหรับม้า และสะดวกในการทำงาน โดยเฉพาะสามารถขับเข้าในเขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น หรือตรอกซอกซอยได้เป็นอย่างดี 

โดยทั่วไปรถพ่วงสำหรับขนม้าที่มีใช้ในบ้านเราจะถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งคันราคาค่อนข้างสูง แต่ก็ตอบแทนกับมาที่คุณภาพอันน่าพอใจ ราคาจะแตกต่างกันออกไปตามวัสดุที่ใช้ประกอบตัวรถพ่วงขึ้นมา ซึ่งรถนำเข้าจะมีการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบระบบความปลอดภัยช่วงล่าง ระบบกันสะเทือน ระบบห้ามล้อ  มีแบบโครงสร้างที่สามารถนำไปขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ อีกส่วนหนึ่งเป็นรถที่นำเข้าอะไหล่จากต่างประเทศแล้วมาประกอบโครงสร้างในประเทศทำให้ราคาถูกลงนิดหน่อย

รถพ่วงม้า ไม่สามารถเคลื่อนที่ด้วยตัวเองได้ ต้องอาศัยกำลังลากจูงของรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ 4X4 หรือรถยนต์อเนกประสงค์ที่มีกำลังแรงม้าสูง สมรรถนะสูง เพื่อความปลอดภัยในการขับเคลื่อนบนท้องถนนสาธารณะ เราจะแบ่งรถพ่วงม้าเพื่อให้เข้าใจง่าย ตามลักษณะจากการต่อพ่วงลาก เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆได้แก่ Bumper pull trailer และ Gooseneck trailer


Bumpers pull trailer มีลักษณะข้อต่อระหว่างรถกระบะและรถพ่วง เป็น ภาษาช่างเรียก “คอเต่า” มีการทำงานเป็นแบบหัวยืดหด เมื่อรถกระบะหยุดรถหรือชะลอความเร็ว รถพ่วงม้าจะมีแรงเฉื่อยจากน้ำหนักตัวรถและน้ำหนักบรรทุก ดันข้อต่อให้หดลงและส่งแรงหรือสัญญานไปที่ระบบห้ามล้อของรถพ่วง ทำให้รถพ่วงลดความเร็วลงไปด้วย ซึ่งลักษณะของข้อต่อจะมีความแตกต่างกันไป ตามการปรับปรุงคุณภาพตามแต่ละยี่ห้อ โดยรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ 4X4 หรือรถยนต์อเนกประสงค์ที่ใช้เป็นต้นกำลังนั้น จะต้องติดอุปกรณ์สำหรับลากจูง Towing bar และติดตั้งสายเต้ารับ เพื่อต่อสัญญาณไฟหยุด ไฟเลี้ยว ไฟถอย ไปสู่รถพ่วงม้าตามกฎหมายของการจราจรทางบก


Gooseneck trailer มีลักษณะการต่อพ่วงคล้ายรถพ่วงหัวลากขนาดใหญ่ แต่ลดขนาดลงมาเพื่อให้รถกระบะขนาด 1 ตันสามารถลากได้ โดยมีการต่อคอให้ยาวขึ้นไป มองดูแล้วคล้าย “คอห่าน” อันจะต่อกับชุดลากที่ติดตั้งอยู่กลางแซสซีของล้อหลังรถกระบะ ซึ่งจะมีหัวต่อโผล่ขึ้นมากลางกระบะ น้ำหนักของรถลากและน้ำหนักบรรทุกจะตกอยู่ที่กึ่งกลางระหว่างล้อหลังของรถกระบะ ไม่มีการเคลื่อนที่ของจำเชื่อมต่อที่ให้รถพ่วงม้าเป็นเสมือนอันหนึ่งอันเดียวกันกับตัวรถ เมื่อรถกระบะต้นกำลังออกตัว เคลื่อนที่ ชะลอความเร็วหรือหยุด รถชนิดนี้จะมีความปลอดภัยสูง สามารถขยายขนาดเพิ่มจำนวนม้า และพื้นที่ได้กว้างขวาง จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ

ส่วนประกอบอื่นๆของรถพ่วงม้าที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวรถ หลักๆก็จะคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันไปตามการเลือกใช้วัสดุของรถแต่ละยี่ห้อ ส่วนประกอบหลักของรถพ่วงม้า ได้แก่ แซสซี (Chassis) ระบบช่วงล่าง (Suspension) ตัวถัง (body) กันสะเทือน ยางและล้อ ห้องโดยสาร ห้องบรรทุก

ระบบช่วงล่าง (Suspension) แรกเริ่มเดิมทีใช้ระบบแหนบคาน (Beam) เหมือนล้อหลังของรถกระบะ ซึ่งรองรับน้ำหนักได้มาก แต่ไม่มีความนุ่มนวล มีแรงสั่นสะเทือนที่ข้อเท้าม้า ในระยะทางไกลหรือทางทุรกันดาล อาจจะทำให้ม้าเจ็บข้อเท้าหรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ ซึ่งจะต้องแก้ปัญหาด้วยการเสริมพื้นห้องบรรทุกด้วยยางแผ่นหนาที่มีความยืดหยุ่นในการซับแรง ต่อมามีการพัฒนาใช้ระบบทอร์ชั่นบาร์ คอยล์สริง และหรือหนวดกุ้ง (Torsion bar and coil spring) ซึ่งคล้ายกับล้อหลังของรถเก๋ง จะให้ความนุ่มนวลในการเคลื่อนที่ ลดแรงสะเทือนที่ข้อเท้าม้ายิ่งขึ้น แต่จะสูญเสียความสามารถในการบรรทุก ในรถพ่วงม้าราคาแพงบางยี่ห้อจะใช้ระบบทอร์ชั่นบาร์ กับถุงลม คล้ายกับล้อหลังในรถโดยสาร ให้ความนุ่มนวลในการขับขี่และลดแรงสั่นสะเทือนที่ข้อเท้าม้าได้ดีมาก


ตัวถัง (Body) ของรถพ่วงม้าเป็นองค์ประกอบหลักของตัวรถที่บ่งบอกคุณภาพและราคาของรถได้เป็นอย่างดี ตัวถังไม้อัดประกบด้วยสังกะสี เป็นวัสดุราคาถูก ความแข็งแรงต่ำ ไม่ทนทานต่อการใช้งาน ไม่ทนต่อสภาวะอากาศที่เปียกชื้น ตัวถังเหล็ก (Metal plate) เป็นตัวถังรถพ่วงม้ามาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป มีความแข็งแรง ทนทาน สามารถสร้างสรรค์งานออกมาได้หลายรูปแบบ หลากหลายลักษณะการใช้งาน แต่ไม่ทนต่อการเกิดสนิม จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำสีกันสนิมเพิ่มเติม ไฟเบอร์กาส (fiberglass) จะพบได้ในรถพ่วงม้าที่นำเข้าจากประเทศแถบยุโรป ในรถพ่วงม้าราคาแพงบางยี่ห้อจะใช้อะลูมินั่ม (aluminums) สร้างขึ้นมาเป็นตัวถังทั้งคัน

ห้องบรรทุกม้า แรกเริ่มเดิมทีจะให้ม้ายืนหันหน้าไปทางหน้ารถทั้งสองตัว แต่เมื่อต้องการบรรทุกม้ามากกว่า 2 ตัว จะให้ม้ายืนหันทะแยงมุม 60 องศา สอดคล้องกับบทความของ Monty Robert จากการสังเกตการณ์ของเขาขณะบรรทุกม้าด้วยรถไฟ ไม่มีซองบังคับควบคุม ม้าจะยืนทะแยงมุม 60 องศา กับทิศทางที่รถไฟเคลื่อนที่ไป ม้าเหล่านั้นจะทรงตัวได้ดีกว่ายืนหันหน้าไปทางที่รถไฟเคลื่อนที่ รูปแบบในห้องบรรทุกจึงมีรูปแบบเหมือนๆกันในรถแต่ละยี่ห้อ จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาประกอบ เหล็ก อะลูมินั่ม สแตนเลส ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อาทิ ช่องเก็บอาน และอุปกรณ์ต่างๆ
ห้องโดยสาร (Living quarter) หรือห้องพัก เป็นส่วนที่อำนวยความสะดวกเพิ่มเติม อาจจะมีห้องสุขา โต๊ะเตรียมอาหาร เตาอบไมโคเวฟ เครื่องดูดควัน เครื่องปรับอากาศ โต๊ะอาหาร ห้องนอน เตียงนอน จะถูกออกแบบให้ลงตัวกับพื้นที่ตอนหน้าในรถพ่วงม้า เป็นส่วนที่ทำให้รถพ่วงม้ามีราคาสูงขึ้น เพราะวัสดุที่นำมาใช้และตกแต่งไม่แตกต่างกับวัสดุที่ใช้ในเรือยอร์ช (yacht) มีการลงสีวานิช (vanish) เคลือบอย่างสวยหรู

การเลือกใช้รถพ่วงม้า จะต้องตั้งวัตถุประสงค์ในการใช้งานว่าเราจะต้องขนย้ายม้าไปที่ใด จำนวนกี่ตัว ความถี่ในการใช้งานบ่อยเพียงใด และที่สำคัญรถพ่วงม้าที่ขับเคลื่อนบนท้องถนนสาธารณะจะต้องมีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน มีระบบห้ามล้อที่เชื่อถือได้ มิเช่นนั้นอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ ผู้ขับขี่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการขับรถพ่วงม้า และตรวจเช็คสภาพรถพ่วงม้าก่อนที่จะใช้งานอย่างสม่ำเสมอ


แซสซี (Chassis) เป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ คือส่วนที่รองรับตัวถังตลอดจนน้ำหนักตัวรถพ่วงม้าและน้ำหนักบรรทุก โดยทั่วไป แซสซี (Chassis) ของรถพ่วงม้าจะทำขึ้นจากเหล็กกล้า ชุบด้วยกัลวาไนซ์ (galvanized steel) เพื่อให้รถพ่วงม้ามีความทนทานไม่เกิดสนิม อันมีสาเหตุมาจากน้ำฝน โคลนตม ตลอดจนอุจาระและปัสสาวะของม้า ในรถพ่วงม้าราคาแพงบางยี่ห้อใช้เหล็กกล้าปลอดสนิม ทำให้รถมีน้ำหนักเบาแต่คงทนแข็งแรง