Horse Handling and Shoeing Position
การจับบังคับม้าเพื่อใส่เกือก by นายโก้
มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “งานใส่เกือกม้า” ซึ่งก็ถูกต้องแล้วครับ การใส่เกือกม้าเป็นงานที่มีความเสี่ยงในชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าถูกม้าเตะ ม้ากัด ม้าเหยียบเท้าม้าชนล้มทับ สารพัดที่เจ้าม้าตัวดีจะสรรหาวิธีการเกเรมาสร้างปัญหาได้ ถ้าถามช่างเกือกม้า (Farriers) ทุกคนแล้วว่า เราจะจัดการกับปัญหาอย่างไร ก็จะได้คำตอบที่เหมือนกันคือ ความรอบคอบไม่ประมาทในการทำงาน Horse sense คือ การรับความรู้สึกของม้านั้นจากการมองเห็น ได้ยิน ดมกลิ่นและสัมผัส
การมองเห็น (sight) ม้าสามารถมองภาพได้ในแนวกว้างทั้งทางด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง ทำให้ม้าสามารถเฝ้ามองศัตรูได้รอบตัว ตาของม้าจะอยู่ค่อนมาทางด้านข้างของหัว และสามารถใช้ตาแต่ละข้างมองภาพวัตถุที่ต่างกันได้ (Monocular vision) และในขณะโฟกัสภาพ เลนส์ตาของม้าจะไม่ยืดหดเหมือนของคน ม้าจะใช้การผงกหัวขึ้นลงในการดูภาพใกล้หรือไกล หากเป็นภาพที่อยู่ไกลมันจะยกหัวขึ้น และเมื่อภาพอยู่ใกล้จนถึงประมาณ 1.2 เมตร ม้าจะก้มหัวต่ำลงจึงจะเห็นภาพชัดรูปทรงของหัวม้าจึงมีความสัมพันธ์กับการมองเห็นของม้า หากหัวกว้างใหญ่ จะมองภาพด้านข้าง และด้านหลังได้ชัดกว่าหัวเล็กแคบ แต่ม้าที่หัวแคบก็จะปรับตัวให้สามารถมองภาพทางด้านหน้าได้ดีกว่า ถ้ามองภาพสีไม่เห็น จะเห็นเป็นภาพขาว-ดำ เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากมีวิวัฒนาการของตาได้ไม่ดีเหมือนกับตาของสุนัขและแมว แต่ม้าจะมีความสามารถมองเห็นในที่มืดได้ดีกว่า
การได้ยิน (Hearing) ในมนุษย์จะได้ยินเสียงในระดับความถี่ 55 Hz to 33.5 kHz แต่ม้าจะได้ยินเสียงในระดับ - Low to mid frequency: < human และ - High frequency (> 8 kHz): > humanประสาทการฟังเสียงของม้า มีวิวัฒนาการค่อนข้างพัฒนาได้ดี ม้าจะเคลื่อนหูฟ้องรับฟังเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียที่มาจากทิศต่างๆ รอบตัวม้า และยังสามารถเรียนรู้ระดับคลื่นเสียง แยกแยะเสียงและจำได้
การดมกลิ่น (Smell) ม้ามีพัฒนาการด้านการดมกลิ่นได้ดี และนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น ใช้ประกอบกับการมองภาพที่ไม่ชัดหรือมองไม่เห็น เช่น การดมกลิ่นของคนที่อยู่ในตำแหน่งชิดด้านท้ายม้าหรือสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ม้าไม่รู้จัก โดยใช้อวัยวะพิเศษ Vomeronasal organ ใช้การจดจำกลิ่นและสื่อสารกันระหว่างม้าด้วยกัน ม้าจะเข้าดมม้าอีกตัวที่จมูก และบริเวณสวาปเมื่อตรวจสอบกลิ่นตามความจำ และสื่ออารมย์ เช่น ความตื่นเต้น ความกลัวโดยผ่านทางกลิ่น ใช้กลิ่นต่าง ๆ ในภูมิประเทศและจดจำ เพื่อทำให้ม้าสามารถจำทิศทางกลับคอกได้เองอย่างถูกต้อง
การสัมผัส (Touch) ม้าใช้ประสาทสัมผัสตามผิวและร่างกายได้ดี เช่นเดียวกับการดมกลิ่น เมื่อให้สามารถสำรวจ การจดจำสิ่งที่อยู่แวดล้อม สามารถใช้สื่อสารระหว่างม้าด้วยกันดังนั้นเราจึงสามารถใช้ประโยชน์ด้านประสาทสัมผัสของม้ามาใช้ในการบังคับ จับและการฝึกม้า เพราะมีผลตอบสนองต่อความเชื่อมั่น ทำให้ม้าสงบไว้วางใจ ในขณะที่ผู้ขี่ม้าอยู่บนหลังม้า จึงต้องใช้ความรู้นี้ในการที่จะสามารถ กระตุ้นเร้าม้าเพื่อการสื่อสารให้ม้ารับรู้ ความรู้สึก และความต้องการของผู้ขี่ โดยการสัมผัสหลายส่วนของร่างกายม้า จะทำให้การขี่ม้าเกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขี่และม้าได้เป็นอย่างดี
การจับบังคับม้าที่ดีนั้นจะช่วยให้เราทำงานกับม้าได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น เมื่อเราทำงานกับตัวม้าในระยะใกล้ชิดรอบๆตัวม้านั้นเราควรจะทราบว่าม้ามีอารมณ์อย่างไร อารมณ์ดี หรือกำลังหงุดหงิด “Feel how the horse feels” ซึ่งการทำความเข้าใจกับอารมณ์ของม้านั้นจะทำให้เราทำงานกับเค้าได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆที่พบกันบ่อยเช่น ถ้าม้าทำหูชี้ไปข้างหลัง แยกเขี้ยวใส่ก็ให้ระวังตัวเอาไว้ดีๆ
การจับม้า (Catching) พึงรำลึกไว้เสมอว่า “ม้าทุกตัวสามารถทำอันตรายเราได้” ถ้าหากท่านพบหน้ากับม้าตัวนั้นเป็นครั้งแรก เพื่อความปลอดภัยควรให้คนเลี้ยงจับม้ามาให้ เพราะม้าจะมีความไว้วางใจกับผู้เลี้ยงหรือเจ้าของ มากกว่าคนแปลกหน้าที่พึ่งเคยพบกัน หรือถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องจับม้าด้วยตนเองควรจะเข้าหาม้าด้วยความระมัดระวัง สงบเงียบและเคลื่อนไหวร่างกายช้าๆ อย่าทำให้ม้าตื่นก่อนที่จะเข้าถึงตัวม้า เพราะถ้าม้าตื่นก็จะทำให้การทำงานยากขึ้นไปอีก
ช่างเกือกควรเตรียมอุปกรณ์ในการบังคับม้าให้พร้อมอันได้แก่ ขลุมจูง (Halter) เชือกจูง (lead rope) ไม้หมอบิดจมูก (twist) ให้พร้อมใช้อยู่เสมอ ถ้าม้าตื่นท่านจะต้องใช้เชือกคล้องเหมือนในภาพยนต์คาวบอยตะวันตก ซึ่งสามารถฝึกฝนให้ชำนาญได้
เมื่อจับม้าได้แล้วควรให้ม้ายืนนิ่งทำความคุ้นเคยด้วยการลูบมือเบาโดยเริ่มต้นที่ไหล่ด้านซ้ายลูบขึ้นตามลำคอ หน้าผาก เมื่อม้าสงบแล้วก็ลูบมือไปตามแนวหลัง สะโพก โดยยืนเอาด้านข้างเข้าหาตัวม้าหันหน้าไปทางด้านท้ายม้าเสมอ แล้วจึงยกขาหน้าด้านซ้ายให้ม้าพับขาจนสุด ลดระดับลงให้แนวหน้าแข้ง (Cannon) ขนาดกับพื้นแล้ววางลงอย่างนิ่มนวล สลับทำกับขาด้านขวาเช่นเดียวกัน
การเข้ายกขาหลังมาควรยืนหันหน้าไปทางด้านท้ายม้าถ้าหากเราจะยกขาหลังซ้าย ให้เอาลำตัวด้านซ้ายของเราเข้าใกล้ตัวม้า ค่อยๆเอามือซ้ายลูบตามแนวสันหลัง สะโพก ต้นขา แล้วเอามือขวาจับที่ข้อเท้าดึงเข้าหาตัวเราให้ม้างอพับขา ถ้าม้าสลัดขาดิ้นรนก็ใช้แรงรั้งไว้เพียงเล็กน้อยอย่าฝืนแรงมากอาจทำให้บาดเจ็บได้ เมื่อม้ายืนยกขาได้แล้วจึงวางลงอย่างนิ่มนวล
เตรียมตัวให้เรียบร้อยใส่กระโปงหนัง (Apron) ปรับขนาดให้รัดกุม เตรียมอุปกรณ์ในการแคะกีบ (hoof pick) การเข้าหาม้าในครั้งนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ต่างกับครั้งแรก เพราะเราแต่งตัวเปลี่ยนไปม้าอาจจะตกในกับกระโปรงหนังหรืออุปกรณ์อื่นๆของเรา ควรเข้าหาม้าจากด้านหน้าข้างซ้ายให้ม้าเห็นเราได้ชัดเจนและคุ้นเคยเสียก่อน
การยกขาหน้าด้านซ้ายเราควรหันข้างลำตัวด้านซ้ายหน้าหันไปด้านท้ายของม้า เอามือซ้ายลูบที่หัวไหล่ม้า มือขวาจับข้อเท้าม้าแล้วยกขึ้นให้แนวหน้าแข้งขนาดกับพื้น ระวังอย่าบิดขาม้าออกนอกแลวลำตัวจะทำให้ม้าปฏิเสธและดึงขากลับ เอาขาม้าผ่านหว่างขาด้านหลังแล้วเอาหัวเข่าหนีบไว้โดยยืนให้ปลายเท้าชี้เข้า ท่านี้เราจะสามารถแคะกีบ เอามีดหรือคีมตัดแต่ง ตะไบให้ได้ระดับ และตีตะปูได้ อีกท่าหนึ่งในการบังคับขาหน้าคือให้ม้ายื่นขามาด้านหน้าแล้ววางลงบนหน้าขาเพื่อตะไบส่วนด้านข้างของกีบ ขาอีกด้านหนึ่งก็สลับทำเช่นเดียวกัน
การยกขาหลังด้านซ้ายให้เอาลำตัวด้านซ้ายของเราเข้าใกล้ตัวม้า ค่อยๆเอามือซ้ายลูบตามแนวสันหลัง สะโพก ต้นขา แล้วเอามือขวาจับที่ข้อเท้าดึงเข้าหาตัวเราให้ม้างอพับขา วางข้าเท้าม้าตามร่องพับในของขาซ้ายของเรา ย่อขาลงเอาหัวเข่าหนีบกีบม้าไว้เพื่อเราจะสามารถแคะกีบ เอามีดหรือคีมตัดแต่ง ตะไบให้ได้ระดับ และตีตะปูได้ อีกท่าหนึ่งในการบังคับขาหลังคือให้ม้ายื่นขามาด้านหน้าแล้ววางลงบนหน้าขาโดยเราจะหันหน้าเข้าตัวม้า เพื่อตะไบส่วนด้านข้างของกีบ ขาอีกด้านหนึ่งก็สลับทำเช่นเดียวกัน
จะเห็นได้ว่าการจับบังคับม้าเพื่อใส่เกือกนั้น เป็นการเริ่มต้นการทำงานช่างเกือกที่จะบ่งบอกว่าความสำเร็จในการใส่เกือกม้าตัวนั้นจะยากหรือง่ายเพียงใด ถ้าเราบังคับม้าได้ดีการตัดแต่งตะไบก็จะเรียบสม่ำเสมอ การวางแนวตะปูและการตีตะปูก็จะตีได้อย่างมั่นคง เกือกม้าก็จะสนิทแนบแน่นไม่หลุดหรือคลอนเร็วกว่าเวลาอันควร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น