วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Horse Trailers manual

Horsemanship: Horse Trailers manual
การใช้รถพ่วงม้า by นายโก้

ฉบับที่แล้วเราคุยกันเรื่องรถพ่วงม้าที่มีใช้กันทั่วไปในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยมีใช้แบบเดียวคือ หัวต่อคอเต่า (Bumper pull trailer) ในฉบับนี้เราจะมาคุยกันในเรื่องการใช้งานรถพ่วงแบบหัวคอเต่า การขับขี่ให้ปลอดภัย จุดที่ต้องให้ความสำคัญ และการบำรุงรักษา

Bumpers pull trailer มีลักษณะข้อต่อระหว่างรถยนต์ต้นกำลังและรถพ่วง เป็น ภาษาช่างเรียก “คอเต่า” มีการทำงานเป็นแบบหัวยืดหด เมื่อรถกระบะหยุดรถหรือชะลอความเร็ว รถพ่วงม้าจะมีแรงเฉื่อยจากน้ำหนักตัวรถและน้ำหนักบรรทุก ดันข้อต่อให้หดลงและส่งแรงหรือสัญญาณไปที่ระบบห้ามล้อของรถพ่วง ทำให้รถพ่วงลดความเร็วลงไปด้วย ซึ่งลักษณะของข้อต่อจะมีความแตกต่างกันไป ตามการปรับปรุงคุณภาพตามแต่ละยี่ห้อ โดยรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ 4X4 หรือรถยนต์อเนกประสงค์ที่ใช้เป็นต้นกำลังนั้น จะต้องติดอุปกรณ์สำหรับลากจูง Towing bar และติดตั้งสายเต้ารับ เพื่อต่อสัญญาณไฟหยุด ไฟเลี้ยว ไฟถอย ไปสู่รถพ่วงม้า และมีวิศวกรผู้ออกแบบลงนามจึงสามารถขออนุญาตออกเลขทะเบียน ตามกฎหมายของการจราจรทางบก
ตรวจสอบ ก่อนใช้งานรถพ่วงม้า ไม่ว่าเราจะคุ้นเคยหรือใช้งานมานานเพียงไร อย่าข้ามขั้นตอนนี้ไปเด็ดขาด เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วเราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ ทั้งความเสียหายต่อชีวิตเรา ชีวิตม้า ทรัพย์สิน และความเสียหายของผู้อื่น

จุดเชื่อมต่อ ก่อนที่จะเชื่อมต่อระหว่างรถยนต์และรถพ่วง จะต้องตรวจสอบจุดต่อของชุดลาก (Towing bar) ซึ่งต่ออยู่กับรถยนต์ต้นกำลังว่า น๊อตทุกตัวอยู่ในสภาพเรียบร้อยไม่หลวมคลอน หัวต่อบอลอยู่ในสภาพดีไม่บุบยุบ มีจาระบีหล่อลื่นเล็กน้อย เมื่อนำรถพ่วงม้ามาเชื่อมต่อแล้ว ตรวจสอบว่าสบกันได้ดี ไม่หลุดลอย ต่อโซ่ป้องกัน หรือบางรุนอาจจะใช้ลวดสลิง แล้วต่อขั้วสัญญาณไฟให้เรียบร้อย
สัญญาณไฟ หลังจากเชื่อมต่อรถพ่วงม้าเข้ากับรถยนต์แล้ว ต้องตรวจสอบสัญญาณไฟเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ขอเน้นจุดนี้เพราะรถยนต์บางคันแยกระบบไฟเลี้ยว ออกจากระบบไฟขอทางซึ่งจะกระพริบทั้งสองดวง ถ้าหากตรวจสอบแต่ไฟขอทาง อาจจะลืม ตรวจสอบไฟเลี้ยวได้ ตรวจสอบไฟท้าย ไฟเบรก และไฟถอยหลัง ให้เรียบร้อย เพราะการเดินทางบนท้องถนน การให้สัญญาณไฟจราจรมีความสำคัญมาก ยิ่งเราลากรถพ่วงด้วยแล้วเราอาจจะมองรถที่วิ่งตามหลังมาได้ลำบาก รถคันหลังจะทราบจากสัญญาณไฟของเราเพียงอย่างเดียว
ระบบล้อ เป็นจุดที่ต้องให้ความสำคัญทั้งความดันลมยาง ซึ่งผู้ใช้รถจะต้องทราบว่า รถพ่วงม้าที่ท่านใช้จะต้องเติมแรงดันลมยางเท่าไรเพื่อที่จะบรรทุกม้าได้นิ่มนวล ลมยางที่แข็งเกินไปจะทำให้รถกระด้างกระเด้งกระดอน เมื่อเคลื่อนย้ายม้าไปแข่งขันอาจจะทำให้ม้าเจ็บข้อเท้าไม่สามารถแข่งขันได้ ลมยางที่อ่อนจะทำให้โครงสร้างยางเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ทนทานยาวนาน หรือถ้าหากวิ่งในทางที่ยาวไกลอาจจะทำให้ยางแตกได้ และต้องตรวจสอบว่าระบบห้ามล้อทำงานปกติ อย่าลืมว่าเมื่อเราลากรถพ่วงแล้ว เราไม่สามารถหยุดรถได้กะทันหัน จะต้องมีระยะปลอดภัยก่อนที่รถจะจอดสนิท
กระจกมองหลัง เป็นสิ่งที่ผู้ขับมักจะมองข้าม เพราะคิดว่าตนเองขับรถอยู่เป็นประจำ แต่เมื่อเราจะลากรถพ่วงแล้วควรจะตรวจสอบกระจกมองหลังทุกครั้งว่ากระจกสามารถมองได้ทั่วถึงทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ถ้าหากกระจกเล็กเกินไปอาจจะต้องติดตั้งกระจกส่องหลังเสริมเข้าไปด้วย
ความเร็ว เมื่อเราขับรถพ่วงม้าเราจะต้องออกตัวอย่างช้า เพื่อป้องกันไม่ให้ม้าเสียหลักล้มหรือเหยียบขาตัวเองบาดเจ็บ ความเร็วบนถนนลูกรังหรือทางชนบท ไม่ควรเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วบนถนนลาดยาง ไม่ควรเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วบนทางหลวง ไม่ควรเกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และใช้ถนนเลนซ้าย



ทางแยก เมื่อขับรถพ่วงจะต้องมีสติ เมื่อถึงทางเลี้ยวหรือทางแยก เราจะต้องเผื่อระยะให้กับรถพ่วงในการเข้าโค้งด้วย อย่าตัดเลน เพราะรถพ่วงอาจจะไปเบียดรถยนต์คันอื่นหรือรถจักรยานยนต์ได้ หรืออาจจะปีนเกาะกลางถนน ตามรูป

วงเวียน ให้รถในวงเวียนไปก่อน เมื่อขับรถเข้าสู่วงเวียนจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง เพราะตามหลักสากลจะต้องให้รถที่อยู่ในวงเวียนไปก่อน แต่ในประเทศไทยจะต้องระมัดระวัง
แซง เมื่อมีความจำเป็นต้องขับรถพ่วงแซงรถคันอื่นจะต้องระมัดระวัง ให้สัญญาณไฟเลี้ยวขวา ลดเกียร์ลง เร่งเครื่องแซงให้พ้นรถด้านซ้าย ก่อนจะเข้าเลนซ้ายต้องดูระยะว่าเหมาะสมแล้วจึงเข้าเลนซ้าย
ถอยหลัง การขับรถพ่วงถอยหลังนั้นจะต้องใช้ประสบการณ์ เริ่มต้นการฝึกด้วยการถอยหลังให้ตรง ถ้าหากรถพ่วงม้าถูกสร้างขึ้นมาอย่างดีจะถอยได้ตรงเมื่อล้อรถต้นกำลังตั้งล้อตรง รถพ่วงจะไม่บิดส่ายไปมา ถอยหลังอย่าใจร้อน คานหน้ารถพ่วงหลายคันหักงอจากการถอยหลัง กรุณาดูจากภาพประกอบ
การบำรุงรักษา โดยทั่วไปรถพ่วงจะมีจุดให้อัดจาระบีในส่วนที่เคลื่อนที่และจำเป็นต้องได้รับการหล่อลื่น เช่น หัวบอล ครอบหัวบอล คอเต่า ลูกปืนล้อ หูห้อย โตงเตง เป็นต้น ตรวจสอบระห้ามล้ออยู่เสมอ ตรวจสอบลมยางทุกครั้งที่ใช้รถ เพียงเท่านี้ท่านก็จะให้รถพ่วงของท่านอย่างมีความสุข พาครอบครัวและม้าที่ท่านรักเดินทางได้อย่างปลอดภัย

สุดท้ายก่อนเกินทางทุกครั้ง ต้องตรวจสอบใบอนุญาตขับขี่ สมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ สมุดคู่มือทะเบียนรถพ่วง กรมธรรพประกันภัยของรถยนต์ และรถพ่วง รวมไปถึงใบอนุญาตเคลื่อนย้ายม้าของกรมปศุสัตว์ ติดไปด้วยทุกครั้ง สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น