อารเบียน สุดยอดสายพันธุ์อาชา เลือดทรหด
แปลและเรียบเรียงโดย ธนพล ตรงในธรรม
ที่มา - www. arabianhorses.org., Arabian Horse Association
ชาวเบดูอีน กล่าวขานถึงสายพันธุ์ ที่งดงามนี้ไว้ว่า “ม้าอารเบียนนั้น ไม่เพียงแค่ถูกสรรสร้างให้มีสรีระที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่ยังได้รับการปลูกฝังวิญญาณแห่งความภักดี ต่อผู้เป็นนาย ไว้อย่างที่จะหาไม่ได้จากม้าพันธุใด”
ดังที่ทราบกันอยู่ว่า ม้าอารเบียน มีถิ่นกำเนิดอยู่ใน ดินแดนทะเลทรายแห่งอารเบีย ดินแดนที่พิสูจน์ธรรมชาติความทรหดของสายพันธุ์ที่มีต่อสภาวะแห้งแล้ง เป็นที่เลื่องลือในฐานะพาหนะอันแข็งแกร่งในสมรภูมิของชาวอาหรับ เชื่อกันว่า ม้าอารเบียน นั้น คงความเป็น “เลือดแท้” ที่เก่าแก่ที่สุดสายพันธุ์หนึ่งของโลก และยังคงความโดดเด่นทางพันธุกรรม มาไว้อย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน
ในทางโบราณคดี ต้นกำเนิดของ สายพันธ์ ม้าอารเบียน ยังเป็นที่ ถกเถียง และไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ว่ามันมีแหล่งกำเนิด จาก บริเวณที่เรียกว่า ที่ลุ่มวงพระจันทร์ (Fertile Crescent) อันมีประเทศซีเรีย ตุรกี อิรัก อิหร่าน ล่องตามลำน้ำ ยูเฟรตีส (Euphrates) ตัดผ่านไปทิศตะวันตกข้าม ซีนาย (Sinai) ไปถึงชายฝั่งประเทศ อียิปต์ ซึ่งเป็นดินแดนที่มีภูมิอากาศและปริมาณฝนเหมาะแก่อาศัย
หรือที่มีนักโบราณคดีอีกฝ่ายเชื่อว่า ต้นตระกูลของสายพันธุ์ น่าจะอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอารเบีย ที่ซึ่งมีแม่น้ำสำคัญถึงสามสายมาบรรจบกัน ซึ่งพื้นที่ทั้งสองนี้ต่างเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์พอที่จะให้ ม้าอารเบียน คงอยู่ และรักษาสายพันธุ์ให้บริสุทธิ์ สืบทอดคุณลักษณะอันโดดเด่นไว้ได้โดยปราศจากความช่วยเหลือจากน้ำมือมนุษย์ มาตั้งแต่โบราณ ในขณะที่ส่วนกลางของภาคพื้นทะเลทรายอารเบียน นั้นคงอยู่ในความแห้งแล้งอย่างสาหัสมานับเป็นเวลากว่า 10,000 ปี ซึ่งม้าน่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้
ม้าอารเบียน ปรากฏหลักฐานว่า เริ่มถูกนำมาใช้งานเป็น “ม้าขี่” ในราว 1500 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากที่มนุษย์สามารถจะควบคุมความเลือดร้อนของมันได้ หากแต่ย้อนหลังไปกว่า 3500 ปีก่อน ม้าอารเบียน ได้รับการขนานนามไว้ว่า เป็น “ผู้สร้างกษัตริย์” ด้วยความที่พวกมันได้ถูกใช้เป็น ม้าเทียมพาหนะ รับใช้เหล่า ฟาโรต์ ยุคอิยิปต์โบราณในการศึกเผยแผ่อิทธิพลขยายดินแดน จนจวบสมัยที่จักรวรรดิโรมันเข้ายึดครอง แต่เรื่องราวอันเรื่องลือของ ม้าอารเบียน กลับมักจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตชาวเผ่าเร่ร่อนเบดูอีน ผู้เชี่ยวชาญ และรักษาความเป็น “เลือดแท้” ของสายพันธุ์ไว้อย่างเป็นเลิศ ที่ซึ่ง แม่ม้าอารเบียน นั้นเปรียบได้กับสมบัติล้ำค่าของตระกูล
ม้าอารเบียน มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เคไฮลาน “keheilan” อันแปลว่า เลือดบริสุทธิ์ ชาวอิสลามเชื่อกันว่า ม้าอารเบียน คือ ของขวัญจากพระอัลเลาะห์ ประทานมาเพื่อช่วยให้ชาวเบดูอีน สามารถอาศัยอยู่บนดินแดนอันแห้งแล้งที่สุดแห่งพื้นพิภพ รูปร่างอันสง่างามน่าอัศจรรย์และสีสัน เกี่ยวเนื่องกับ ความเชื่อทางศาสนาอย่างลึกซื้ง
เอกลักษณ์ประจำตัวอันโดดเด่นของสายพันธุ์ม้าอารเบียน ถูกเปรียบไว้อย่างมีความหมาย ดั่งหน้าผากกว้างเป็นที่ประดิษฐาน “Jibbah” คำอวยพรจาก พระผู้เป็นเจ้า ช่วงลำคอโค้งดั่งคันศร อันเป็น เปรียบได้กับ “Mitbah” สัญลักษณ์ แห่งความกล้าหาญ หางที่ชี้ขึ้นและพลิ้วไหว เป็นดั่ง เกียรติยศ ลักษณะนิสัยถูกแทนด้วยการได้รับความยอมรับจากสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ชาวเบดูอีน ได้รับมอบหมายจาก พระผู้เป็นเจ้า ให้รักษาไว้เป็นอย่างดี การผสมพันธุ์ม้าข้ามสายพันธุ์ ถือเป็นข้อห้ามอย่างร้ายแรง หรือแม้กระทั่งม้าในดินแดนทะเลทราย ในเขตอื่นที่ห่างไกลออกไปก็ถูกจัดให้เป็นม้าต่างสายพันธุ์ นี่คือเหตุผลที่ทำให้ สายพันธุ์อารเบียน คงความเป็น “เลือดแท้” และเก็บคุณลักษณะอันโดดเด่นของสายพันธุ์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น เพราะมันคือ ความภาคภูมิของชาวเบดูอีน ที่ได้รับพรอันยิ่งใหญ่นี้จาก พระผู้เป็นเจ้า
ม้าอารเบียน นั้นจัดไว้เป็น ม้าศึกของชาวเบดูอีน ด้วยความแห้งแล้งของภูมิประเทศ การสร้างความมั่งคั่งให้แก่เผ่าคือการโจมตี และยึดเอาฝูงปศุสัตว์ของเผ่าอื่นมาเป็นของตนเอง ซึ่งปัจจัยของความสำเร็จคือ การโจมตีอย่างฉับพลันทันใด ให้ศัตรูไม่ทันตั้งตัว และสามารถถอนตัวได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความนิ่งสงบ ม้าตัวเมีย มักถูกเลือกนำมาใช้ในหน่วยโจมตี เพราะมันจะไม่ส่งเสียงร้องเหมือนอย่างม้าเพศผู้เมื่อเจอม้าตัวอื่น อันจะเป็นการทำให้ศัตรูรู้ตัวล่วงหน้า อีกทั้งยังมีความกล้าหาญ ในการบุกทะลวงและกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางรอบค่ายของศัตรู รวมทั้งยังมีน้ำอดน้ำทนอย่างมากที่ต้องบุกมาจากที่ตั้งของเผ่าซึ่งอยู่ไกลจากที่ตั้งของศัตรู
ชาวเบดูอีน มีวิถีอันแยบยลในการที่จะทำให้ไม่เกิด “เลือดชิด” ในฝูงม้าของเผ่า นั่นคือการแข่งขันระหว่างเผ่า ที่ซึ่งผู้แพ้จะต้องมอบม้าที่ดีที่สุดของฝูงให้กับผู้ชนะ อย่างไรก็ตาม ม้าศึกเพศเมียของเผ่าถือเป็นม้าที่ประเมินค่าไม่ได้ หากผู้ใดได้รับ ม้าศึกตัวเมีย มักถือไว้ได้รับของขวัญที่มีเกียรติ และยิ่งใหญ่ที่สุด
ชาวเบดูอีนให้คุณค่ากับม้าที่มีเลือดพันธุ์บริสุทธิ์เท่านั้น และมักจะตั้งชื่อตามตระกูลของหัวหน้าเผ่า หรือ ชีค และในแต่ละเผ่าก็ มักจะมี สายเลือดบริสุทธิ์ เผ่าละหนึ่งตัวเท่านั้น มีม้าห้าตระกูลที่เป็นต้นสาแหรกของสายเลือด เรียกว่า “Al Khamsa” ประกอบด้วย “Keheilan, Seglawi, Abeyan, Hamdani และ Hadban” ส่วนสายเลือดรองลงมาได้แก่ “Maneghi, Jilfa, Shuwayman, และ Dahman”
ในเรื่องราวที่เรื่องลือถึงความห้าวหาญ อดทน และฝีเท้าจัดจ้าน มักมีชื่อสายเลือดรองของตระกูล “The great Kehilet al Krush, the Kehilet Jellabiyat, และ the Seglawi of Ibn Jedran” ปรากฏอยู่ด้วยเสมอ ม้าในสายนี้เต็มไปด้วยเกียรติประวัติทั้งจากการสงคราม และการแข่งขัน ลูกหลานม้าเพศเมียในสายเลือดตระกูลนี้จึงเป็นที่ต้องการ และมักจะเปลี่ยนมือจากการถูกขโมย ใช้เป็นสินบน หรือถูกหลอกลวงไป เชื่อว่าหากมีการขายม้าในสายเลือดนี้จะต้องมีราคาที่สูงมาก
ม้าในแต่ละตระกูลนั้นจะมีคุณลักษณะ ที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันดังเช่น ม้าในตระกูล Keheilan จะมี แก้มที่ลึก มีกล้ามเนื้อที่ใหญ่และทรงพลัง มีความสูงโดยเฉลี่ย 15 แฮนด์ มักจะมี สี gray (ขาว) และ chestnut (น้ำตาล)
ม้าในตระกูล Seglawi มีชื่อเสียง ในเรื่องความสะสวยแบบเพศหญิง มีความรวดเร็วมากกว่าความอดทน ม้าตระกูลนี้ มีกระดูกแข็งแรง หน้าและลำคอยาวกว่า Keheilan มักมีความสูงเฉลี่ย 14.2 แฮนด์ ส่วนใหญ่ จะสี bay (ประดู่)
ม้าในตระกูล Abeyan ลักษณะคล้าย Seglawi มาก แต่มักจะมีช่วงหลังยาวกว่า ม้าอารเบียน ทั่วไป ตัวค่อนข้างเล็ก สูง 14.2 แฮนด์ สี gray และมักจะพบมี มาร์คกิ้งสีขาว มากกว่าตระกูลอื่น
ม้าในตระกูล Hamdani มักจะถูกมองเป็น ม้าเรียบๆ มีกล้ามเนื้อแบนักกรีฑา โครงสร้างกระดูกใหญ่ ส่วนหัวมักจะลาดตรง ลำคอมีความโค้งน้อย สูงประมาณ 15.2 แฮนด์ เป็นตระกูลที่ใหญ่ที่สุดตระกูลหนึ่ง มักมีสีgray และ bay
ม้าในตระกูล Hanban ม้าตระกูลนี้ เปรียบเหมือนกับ Hamdani ย่อส่วน มีความโดดเด่นในเรื่องของความอ่อนโยน สูงประมาณ 14.3 แฮนด์ มีสี brown (น้ำตาลเข้ม) และสี bay อาจมี มารคกิ้งขาว บ้างแต่พบไม่มาก
หลังสงคราม ม้าศึกที่ตกค้างอยู่ มีเหมือนกับที่นักรบตกเป็นเชลยศึก ม้าอารเบียน จึงได้แพร่กระจายผ่านตุรกีเข้าสู่ยุโรป ซึ่งในยุคก่อนมักจะพัฒนาแต่ม้าตัวใหญ่ที่ต้องรับน้ำหนักเกราะของอัศวินและม้า จนได้เริ่มหันมามอง ม้าน้ำหนักเบา จนเมื่อเข้าสู่ อังกฤษ ม้าอารเบียนยังมีสัดส่วนในสายเลือด Thoroughbred ด้วยเช่นกัน ในหลายประเทศที่ ม้าอารเบียน แพร่กระจายเข้าไป คุณลักษณะอันโดดเด่นของมันได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ม้าต่างๆอีกมากมาย อาทิเช่น ยอดม้า Percheron ของฝรั่งเศส ม้าOrloff Trotter ของรัสเซีย
จวบจนปัจจุบันที่ ม้าอารเบียน ได้รับการยอมรับอย่างยิ่งใหญ่ เป็นแรงผลักดันให้ทั้งรัฐบาล เชื้อพระวงศ์อาหรับ ได้สืบทอดสายพันธุ์ ให้ดำรงไว้ ซึ่งความเป็น อาชาแห่งทะเลทราย จึงสมควรหวนนึกถึง ชาวเบดูอีน และให้การคารวะในฐานะผู้รักษาความเป็น“เลือดแท้”และวางรากฐานชาติพันธุ์อันโดดเด่นให้กับ “อารเบียน สุดยอดสายพันธุ์ อาชาทรหด”
*เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เชื่อกันว่า ม้าเซ็กเทา ม้าชั้นดี ฝีเท้าพันลี้ ขนสีแดงทั้งตัว ที่ได้ถูกใช้เป็นของกำนัลที่ ตั๋งโต๊ มอบให้ ลิโป้ เพื่อให้ยอมทรยศต่อพ่อบุญธรรม และต่อมาตกถึงมือ โจโฉ นำมากำนัลให้ กวนอู เพื่อหวังให้ทรยศ เล่าปี่ เชื่อกันว่า เป็นม้าอารเบียน จากดินแดนเปอร์เซีย* ที่มา- sextao.blogspot.com
ด้วยความสมบูรณ์แบบของม้าอารเบียน หลังจากสงครามครูเสดเป็นต้นมา มันจึงกลายเป็นสายพันธ์ที่โจทย์จรรในทุกสมรภูมิ ความโดดเด่นในเรื่องความกล้าหาญ รวดเร็ว ทรหดอดทน ล้วนเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากม้าศึกของชาวยุโรป ที่มีรูปร่างใหญ่โตเพียงเพื่อรองรับกับ ชุดเกราะอันหนาและหนักของอัศวินและตัวม้า ทั้งที่จริงแล้ว ม้าของชาวยุโรป ถูกเพาะพันธ์มาเพื่อใช้ในงานกสิกรรม และเทียมเกวียนบรรทุก มากกว่าที่จะใช้เป็น ม้าศึก ชาวยุโรป จึงเริ่มให้ความสนใจในการพัฒนา ม้าที่ตัวเล็กลง มีความรวดเร็ว คล่องตัว ไว้ใช้ในกิจการทหารม้า และนี่คือจุดเริ่มต้นของม้าที่พัฒนาเพื่อใช้ขี่ ยุคใหม่
ในช่วงปี คศ.1683 ถึงปี คศ.1730 ประเทศอังกฤษ ได้นำ พ่อพันธ์ม้าอารเบียน 3 ตัว คือ The Darley Arabian (เดอะ ดาร์ลี่ย์ อาราเบียน), The Byerly Turk (เดอะ ไบเออรี่ย์ เติร์ก), The Godolphin Arabian (เดอะ โกดอลฟิน อาราเบียน) และเริ่มต้นพัฒนา ม้าขนาดกลางอย่างจริงจังและ แพร่หลาย หนึ่งในสายพันธ์ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและได้รับความนิยมสูงสุดจนถึงปัจจุบันคือ สายพันธ์โธโรเบรด การพัฒนาสายพันธ์ม้ายุคใหม่ โดยมี ม้าอารเบียน เป็นต้นสายนั้นแพร่หลายไปทั่วยุโรป ม้ายุคใหม่หลายพันธ์เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ และความนิยมของประเทศที่พัฒนา อาทิ สายพันธ์ ม้าโอลอฟ ทร็อตเตอร์ Orlov Trotter ของรัสเซีย อันเป็นผลผลิตข้ามสายพันธ์ระหว่าง ม้าอารเบียน ม้าดัชท์วอร์มบลัด, ม้าเดนิชวอร์มบลัด, อิงลิช ฮาล์ฟบลัด และในฝรั่งเศส ได้ต่อสายพัฒนาเป็น ม้าเพอร์ชีรอน Percheron และในอเมริกา ม้าอารเบียน ได้ก่อกำเนิดสายพันธ์ใหม่ ที่นับเป็นหนึ่งในสายพันธ์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดสายพันธ์หนึ่ง นั่นคือ ม้ามอร์แกน Morgan
นอกเหนือจากบทบาทในการเป็นต้นสายของม้ายุคใหม่หลายสายพันธ์แล้ว ม้าอารเบียนเลือดแท้ยังได้รับการสืบทอดมอบคุณลักษณะของยีนที่โดดเด่นอย่างต่อเนื่องในทุกแห่งที่ ม้าอารเบียนไปถึง ความกล้าหาญ อดทน ฉลาด ตื่นตัว ว่องไว ล้วนเป็นลักษณะที่เพียบพร้อมครบถ้วนสำหรับใช้เป็น ม้ากีฬายุคใหม่ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการกระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง เดรสสาจ หรือกีฬาที่ต้องการความทรหด อย่างเช่น เอ็นดูแรนซ์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ หากจะพบว่า ในการแข่งขันกีฬาขี่ม้าประเภทต่างๆ จะพบว่ามี ม้าอารเบียน เข้าร่วมด้วยเสมอ
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย : ว่ากันว่า สหรัฐอเมริกา อันเป็นประเทศที่มีการใช้ม้าอย่างกว้างขวาง และเป็นแหล่งรวม ม้าชั้นนำทั่วโลก มีจำนวน ม้าอารเบียนที่ยังคงมีชีวิต มากกว่า ม้าอารเบียนในประเทศอื่นๆทั้งโลกรวมกันเสียอีก
ด้วยความเคร่งครัดในการสืบทอดสายพันธ์ ม้าอารเบียน ของชาวเบดูอีน ม้าที่ได้รับการถ่ายทอดยีนเด่น อันเป็นคุณลักษณะประจำตัวของสายพันธ์ ไว้อย่างครบถ้วนเท่านั้นจึงมีสิทธิที่จะให้ลูกได้ และด้วยความเป็นเลือดแท้ดังกล่าว ผู้พัฒนาพันธ์ม้ายุคใหม่ จึงมักเลือกที่จะใช้ ม้าอารเบียน เป็นต้นสายในการผสมข้ามพันธ์ เพื่อให้ลูกม้าที่ได้รับเอายีนเด่นของม้าอารเบียนมาไว้ในสายเลือด คุณค่าความเป็น ม้าอารเบียน เลือดแท้จึงยังคงเป็นที่ต้องการและได้รับการอนุรักษ์ไว้จวบจนปัจจุบัน
นอกจากความโดดเด่นตามสัญชาตญาณแล้ว คุณลักษณะเด่นทางกายภาพของ ม้าอารเบียน ที่มองเห็นด้วยสายตาที่จะให้ช่วยชี้ชัดความเป็น ม้าอารเบียน มักจะหนีไม่พ้นลักษณะดังต่อไปนี้
dished head (หน้าจาน)
large eyes (ตาโต)
arched neck (คอโค้งเหมือนคันศร)
flaring nostrils (รูจมูกผาย)
delicate muzzle (กล้ามเนื้อสมส่วน)
การพิจารณารูปพรรณ สัณฐาน ของม้าอารเบียนนั้นหากเปรียบเทียบกับมนุษย์ รูปร่างแบบนักกรีฑา คือลักษณะกายภาพ ที่เหมาะเจาะลงตัวที่สุด กล้ามเนื้อที่สมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตมโหฬาร ความแข็งแรงไม่ได้ขึ้นอยู่กับส่วนสูงของม้า ลักษณะกายภาพอันโดดเด่นของ ม้าอารเบียน ล้วนเอื้ออำนวยต่อการทำงานของร่างกายอย่างสมบูรณ์แบบ อาทิ
- ช่วงศีรษะสั้น (short), หน้ารูปจาน-ช่วงคางกลมเหมือนจาน (dished head) , รูจมูกผาย ( flaring nostrils) ซึ่งช่วยให้หายใจรับอ็อกซิเจนได้ดี
- ลำคอโค้งดั่งศันศร (arched neck) ช่วยให้หลอดลมสามารถนำอากาศเข้าปอดได้อย่างสะดวก คล่องตัว
- อกลึก (deep chest cavity), ซี่โครงขยายตัวได้ดี (well-sprung ribs) ซี่โครง 17 คู่ (17 ribs) ในขณะที่ ม้าสายพันธ์อื่นมี 18 คู่ ซึ่งหมายถึงปอดจะมีพื้นที่ขยายตัวมากขึ้น
- กระดูกสันหลังช่วงสะโพก 5 ข้อ (5 lumbar vertebrae) น้อยกว่าสายพันธ์อื่น 1 ข้อ และ มีกระดูกท่อนหาง 16 ท่อน (16 tail bones) ในขณะที่ม้าพันธ์อื่นมี 18 ท่อน ล้วนเป็นลักษณะทางกายภาพที่ ทำให้ ม้าอารเบียน มีหางติดสูง และตั้งขึ้นอย่างสง่างาม
- และเชื่อกันว่า ความที่หน้าผากบริเวณระหว่างตาทั้งสองข้าง หรือ Jibbah มีพื้นที่มาก ทำให้มีสมองที่เฉลียวฉลาด จดจำสิ่งต่างๆได้ดีและนานกว่า ตอบสนองได้เร็ว ตื่นตัว และมีความเป็นมิตรมากกว่าม้าใดๆในโลก
ม้าอารเบียน เป็นม้าที่มีอายุยืนกว่าม้าสายพันธ์อื่น ม้าอารเบียนสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้จนถึงอายุ 20 ปี บางตัวอาจมีอายุยืนถึง 30 ปี
ในการแข่งขัน เอ็นดูแรนซ์ ที่จัดขึ้นในระดับโลกนั้น ม้าอารเบียน บ่อยครั้งจะได้รับการบันทึกไว้ในฐานะที่สามารถจบการแข่งขัน 100 ไมล์ โดยใช้เวลาไม่ถึง 10 ชั่วโมงด้วยซ้ำไป
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความสมบูรณ์แบบที่มีอยู่ในสายเลือด ไม่ว่าด้านสติปัญญา หรือ กายภาพ ล้วนเอื้ออำนวยต่อความเป็นสุดยอดอย่างแท้จริง อีกทั้งการที่สายพันธ์ของ ม้าอารเบียน ได้ตกอยู่ในมือของผู้ที่รู้ซึ้งถึงคุณค่า จึงได้รับการอนุรักษ์สืบทอดความเป็นเลือดแท้ และรักษาคุณลักษณะอันโดดเด่นไว้อย่างครบถ้วนตลอดมา ดังนั้น การที่ได้เป็นเจ้าของ ม้าอารเบียน สักหนึ่งตัว สำหรับผู้ที่ศึกษาชาติพันธ์ของ ม้าอารเบียน แล้ว จึงเปรียบเสมือนดั่งการได้รับ สมบัติล้ำค่า และยิ่งถ้าได้เป็นเจ้าของ ม้าอารเบียน ที่แสดงออกซึ่งความเป็นสุดยอดของสายพันธ์อย่างครบถ้วนทุกประการแล้วไซร้ คงเทียบได้กับการได้รับ มรดกแห่งมนุษยชาติ เลยทีเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น