Horse Training
“เริ่มต้นการฝึก” by นายโก้
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่านฉบับนี้ก็ขอเปิดประเด็นใหม่ขึ้นมาในหัวเรื่อง “การฝึกม้า” เป็นคำง่ายๆที่ผู้เลี้ยงม้าทุกคนต้องพบเจอ แต่จะมีซักกี่คนที่เข้าใจลึกซึ้งในการฝึกม้าเพื่อให้ได้ม้าที่ดีมาใช้งาน การฝึกม้าเป็นศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่โบราณ หลังจากมนุษย์จับม้าป่าตัวแรกมาใช้งาน นั่นเป็นการฝึกม้าครั้งแรกเมื่อ 5,000 กว่าปีล่วงมาแล้ว ตำราฝึกม้าอันโด่งดังถูกเขียนขึ้นโดยนักปราชญ์ชาวกรีกชื่อว่า “XENOPHON” (เซโนฟรอน) กล่าวถึงการฝึกม้าอย่างครอบคลุม การฝึกม้าในปัจจุบันมีการฝึกม้าหลากหลายรูปแบบ ตามแต่ภูมิประเทศและตามแต่ลักษณะการใช้งาน โดยจะขอจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆสองประเภทอันได้แก่ การฝึกม้าแข่ง และการฝึกม้าขี่
ม้าแข่ง (Racing horse) เป็นม้าที่มีการนำมาใช้งานในการแข่งขันเพื่อความเร็ว แสดงถึงศักยภาพของตัวม้าออกมาอย่างเด่นชัด โดยจะต้องมีการฝึกฝนฝึกซ้อม ลักษณะการฝึกจะเป็นการฝึกเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางการออกกำลังกาย การฝึกเสริมสร้างกล้ามเนื้อ การใช้พลังงาน ระบบไหลเวียนโลหิตอันได้แก่หลอดเลือดและหัวใจ การฝึกความอดทดจากการหายใจทั้งแบบใช้ออกซิเจนและไม่ใช้ออกซิเจน ภาษาม้าแข่งเรียกว่า ก๊อกสอง จะเห็นได้ว่าผู้ขี่ไม่ได้บังคับม้าอย่างเต็มที่
การฝึกม้าขี่ (Riding horse) เป็นม้าที่ฝึกมาเพื่อขี่ การใช้งานและการแข่งขันจะเป็นการประสานงานระหว่างม้าและผู้ขี่ อันจะทำงานร่วมกันระหว่างหัวใจสองดวง เพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามต้องการ เช่น การขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง โดยผู้ขี่จะเป็นผู้ควบคุมจังหวะการก้าวเท้าของม้าในทุกจังหวะ เพื่อให้ม้าวิ่งเข้าสู่เครื่องกระโดดอย่างถูกต้องเหมาะสมตรงตามแผนที่วางไว้ การใช้งานม้าในชีวิตประจำวัน การขี่ม้าเพื่อพักผ่อน ซึ่งจะต้องมีความปลอดภัยในการขี่ม้า
การฝึกม้าที่ผู้เขียนจะเขียนต่อไปจะเป็นการฝึกม้าเบื้องต้น เพื่อให้ได้ม้าขี่ไว้ใช้งาน ซึ่งอาจจะไม่ได้มุ่งเน้นในด้านกีฬาใดกีฬาหนึ่ง แต่จะมุ่งให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนและม้า (Horsemanship) อันจะทำให้ผู้เลี้ยงม้าโดยทั่วไปมีความเข้าใจในสัญชาตญาณ ความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ และพฤติกรรมของม้า เพื่อส่งเสริมให้เกิดสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี (Animal welfare) ต่อม้าทุกๆตัว เราจะเตรียมความพร้อมในการฝึกม้า อันมีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วนได้แก่ ม้า สถานที่อุปกรณ์ และผู้ฝึก
ม้า ที่เราจะเอามาฝึกนั้นเราควรจะมีการเลือกม้าที่เหมาะสมต่อการใช้งาน โดยจะมีหลักในการเลือกม้าอาทิ ม้าที่มีพันธุ์ดี (Pedigree) ประวัติความสามารถของพ่อแม่หรือพี่น้องที่ทำไว้ รูปร่างดี มีความสมบูรณ์ทางกายภาพ (Conformation) ไม่เป็นม้าที่พิการ โดยเฉพาะส่วนของกีบเท้า ข้อต่อ กระดูกท่อนขา เสถียรภาพทางอารมณ์ ความร่วมมือ และความตั้งใจในการเรียนรู้รับคำสั่ง (Coordination) แต่อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วในประเทศไทย ซึ่งจำนวนประชากรของม้าที่มีน้อยทำให้เราไม่ค่อยมีตัวเลือกมากนักที่จะคัดเลือกม้าที่ดีเข้าสู่ระบบการฝึก ผู้เลี้ยงที่มีม้าพันธุ์ดีจึงจะต้องเน้นในการเลือกหาโรงเรียนเพื่อฝึกสอนม้าของตนเองให้มีความสามารถที่ดี ตามสายพันธุ์ สายพันธุ์จะบ่งบอกความสามารถของม้าว่า ม้าตัวนั้นเหมาะสมที่จะทำงานประเภทใดเป็นพิเศษ ผมขอยกตัวอย่างสายพันธุ์ม้าที่เลี้ยงในบ้านเรามาเป็นตัวอย่าง
ม้าแข่งพันธุ์โทโรเบรท (Thoroughbred) เป็นม้าที่ถูกคัดพันธุ์ขึ้นมาในประเทศอังกฤษกว่า 200 ปี เพื่อแสดงความสามารถในการวิ่งเร็วที่สุด ในสนามแข่งขันความเร็ว (Race track) ในระยะที่มีการจัดการแข่งขัน ความอดทนของม้าพันธุ์นี้ยังนำมาใช้แข่งขันในกีฬาอื่นๆอีกเช่น กีฬาล่าสัตว์ (Hunting) กีฬาขี่ม้าข้ามเครื่องกีดขวางในภูมิประเทศ (Eventing) แต่ม้าพันธุ์นี้โดยส่วนใหญ่จะเกิดและถูกเลี้ยงในคอกม้าอย่างใกล้ชิดทำให้มีความบอบบางกว่าพันธุ์อื่นจึงต้องดูแลเอาใจใส่มาก
ม้าอาราเบียน (Arabian horse) เป็นม้าสายเลือดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีถิ่นกำเนิดในทะเลทราย มีความอดทนสูง เดินทางหากินได้ไกลในทะเลทราย จึงมีความนิยมที่นำมาแข่งขันระยะไกล (Long distance) และยังมีความสามารถในกีฬาที่หลากหลาย และนิยมนำมาผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อให้เกิดม้าที่มีสมรรถนะความสามารถอดทนสูง มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ แต่ลักษณะพิเศษของม้าพันธุ์นี้คือความรักเจ้าของ
ม้าอเมริกันควอเตอร์ฮอร์ส (American Quarter horse) เป็นม้าที่ถูกสร้างสายพันธุ์ขึ้นมาเพื่อใช้งานหนักในยุคบุกเบิกตะวันตก ของประเทศสหรัฐ ร่างกายกำยำแข็งแรง มีความมั่นคงทางอารมณ์ ฝึกสอนได้ง่าย เหมาะกับการขี่ใช้งานทั่วไป มีความสามารถในการวิ่งเร็วที่สุดในระยะ 1 ใน 4 ไมล์ (Quarter mile) ในปัจจุบันถูกนำมาแข่งขันกีฬาระยะสั้น (Gymkhana) มากมายหลายชนิดกีฬา เช่น ขี่ม้าต้อนวัว ขี่ม้าอ้อมถัง ขี่ม้ายิงปืน ฯลฯ
ม้าไทยพื้นเมือง (Thai native horse) เป็นม้าพื้นถิ่นในประเทศไทยและใกล้เคียง ตัวเล็กคล่องแคล่วว่องไว สามารถนำไปใช้งานได้ทั่วไป แต่มีความมั่นคงทางอารมณ์ต่ำ ทำให้ยากต่อการฝึก และการจดจำแบบฝึก แต่ในความเห็นของผู้เขียนม้าพันธุ์นี้สามารถฝึกและพัฒนาความสามารถได้ถ้าหากได้รับการฝึกอย่างถูกต้อง
สถานที่ในการฝึกผู้เขียนใช้คอกวงกลม (Round pen) สำหรับฝึกม้ามีความยาวเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 14 เมตร เส้นรอบวงประมาณ 44 เมตร ความสูงอย่างต่ำ 1.5 เมตร มีความมั่นคงแข็งแรงไม่มีสิ่งที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่ตัวม้า อุปกรณ์การฝึกอันได้แก่ ขลุมจูงสำหรับเริ่มต้นฝึกจับจูงม้า ขลุมตีวงสำหรับฝึกตีวงม้าซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างจากขลุมจูงทั่วไป สายขับยาวใช้ฝึกบังคับม้าบนพื้นก่อนที่จะขึ้นหลัง แส้ฝึกม้าไม่ได้ใช้สำหรับตีม้าแต่อย่างใด เราจะใช้ให้สัญญาณแก่ม้า และเครื่องม้าสำหรับขี่ม้า ซึ่งจะกล่าวถึงในระหว่างการฝึกต่อไป
ส่วนประกอบสุดท้ายอันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในการฝึกม้าได้แก่ ผู้ฝึก ผู้ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในการฝึกหรือความล้มเหลวในการฝึก ผู้ฝึกจะเป็นผู้ควบคุมและวางแผนการฝึก โดยเฉพาะม้าใหม่ (Green horse) ซึ่งจะได้รับการสัมผัสจากมนุษย์เป็นครั้งแรก เป็นการฝึกอันจะส่งผลต่อชีวิตของม้าตัวนั้นทั้งชีวิต ถ้าผู้ฝึกสามารถฝึกม้าให้เป็นม้าที่ดี การเลี้ยงดูเอาใจใส่ก็จะสะดวกง่ายดาย แต่ถ้าการฝึกล้มเหลวม้าดื้อไม่ยอมรับคำสั่งม้าตัวนั้นอาจจะมีชีวิตที่ไม่ดี
ผู้ฝึกม้าควรจะมีพรหมวิหาร 4 อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันจะทำให้กระบวนการฝึกม้าเป็นไปอย่างราบรื่น ถ้าหากเกิดความผิดพลาดในการฝึกก็ควรหยุดพัก และวางแผนในการฝึกขั้นต่อไป ผู้ฝึกม้าควรจะศึกษาหาความรู้ในพฤติกรรมของม้า เพื่อที่จะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของม้าที่เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติ พฤติกรรมทางสังคมของม้าว่ามีการจัดลำดับทางสังคมอย่างไร การสื่อสารระหว่างม้าด้วยกันหรืออวจนภาษา (Body langue) ว่าม้าต้องการจะสื่อสารอะไรกับเรา ความสนใจใฝ่รู้อันไม่หยุดนิ่งนี้จะเป็นแรงขับดันที่ทำให้เราสามารถทำการงานสิ่งใดให้ประสพความสำเร็จได้
การวางแผนในการฝึกม้าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการฝึก และประสิทธิผลของม้า เราจะต้องวางแผนการฝึกให้ชัดเจนเป็นลำดับขั้นตอน ข้อแรกกำหนดเป้าหมายความสามารถที่เร้าต้องการจะให้ม้านั้นทำได้ เช่น สามารถขี่ได้ดี มีนิสัยดีบังคับควบคุมง่าย ขึ้นรถเดินทางง่าย เป็นต้น ข้อสองสำรวจม้าของเราตามความเป็นจริงว่าม้าของเราเป็นอย่างไร มีนิสัยอย่างไร ดื้อมาก ดื้อ กระตือรือร้น เรียบร้อย เฉื่อย สุขภาพร่างกายเป็นอย่างไร แข็งแรงดีหรือไม่ รูปร่างสมบูรณ์สมส่วนหรือไม่ ข้อสามหาแนวทางในการฝึกให้เหมาะสมกับลักษณะของม้าที่เป็นอยู่เพื่อให้ได้ม้าที่เราต้องการจะให้เป็น การฝึกจะต้องมีการทำซ้ำมากขึ้นจากปกติหรือไม่ ม้าต้องการออกกำลังกายมากหรือน้อยเพียงไร ข้อสุดท้าย วางแผนในการฝึกอย่างเป็นลำดับ และเริ่มฝึกม้าอย่างมีความสุข ถ้าท่านรู้สึกเหนื่อยหรือเครียดมากก็ควรจะหยุดพัก และหลังจากผ่อนคลายจึงเริ่มการฝึกใหม่
ในฉบับหน้าเราจะมาเริ่มฝึกม้ากัน ผู้เขียนของแสดงมุทิตาจิตต่อท่านอาจารย์สุโรจน์ ศิริรัตตานนท์ ผู้ให้คำแนะนำในการฝึกม้าและชักนำผู้เขียนเข้ามาสู่โลกของม้า เพื่อที่จะเข้าใจว่าม้าต้องการสื่อสารอะไรกับเรา
You have a good point here!I totally agree with what you have said!!Thanks for sharing your views...hope more people will read this article!!! Retirement Horse Boarding
ตอบลบ