Horsemanship: Horse Trailers
รถพ่วงม้า by นายโก้
รถพ่วงม้า by นายโก้
ในประเทศไทยเริ่มมีความนิยมใช้รถพ่วงขนส่งม้ามากขึ้น เนื่องด้วยเพราะความสะดวกในการเคลื่อนย้ายม้าขึ้น-ลงง่ายกว่ารถบรรทุกขนาดใหญ่ ประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อเคลื่อนย้ายจำนวนน้อยตัวจำนวนน้อยตัว รถที่ถูกออกแบบมาสำหรับขนส่งม้าโดยเฉพาะ จะมีความปลอดภัยสำหรับม้า และสะดวกในการทำงาน โดยเฉพาะสามารถขับเข้าในเขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น หรือตรอกซอกซอยได้เป็นอย่างดี
โดยทั่วไปรถพ่วงสำหรับขนม้าที่มีใช้ในบ้านเราจะถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งคันราคาค่อนข้างสูง แต่ก็ตอบแทนกับมาที่คุณภาพอันน่าพอใจ ราคาจะแตกต่างกันออกไปตามวัสดุที่ใช้ประกอบตัวรถพ่วงขึ้นมา ซึ่งรถนำเข้าจะมีการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบระบบความปลอดภัยช่วงล่าง ระบบกันสะเทือน ระบบห้ามล้อ มีแบบโครงสร้างที่สามารถนำไปขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ อีกส่วนหนึ่งเป็นรถที่นำเข้าอะไหล่จากต่างประเทศแล้วมาประกอบโครงสร้างในประเทศทำให้ราคาถูกลงนิดหน่อย
รถพ่วงม้า ไม่สามารถเคลื่อนที่ด้วยตัวเองได้ ต้องอาศัยกำลังลากจูงของรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ 4X4 หรือรถยนต์อเนกประสงค์ที่มีกำลังแรงม้าสูง สมรรถนะสูง เพื่อความปลอดภัยในการขับเคลื่อนบนท้องถนนสาธารณะ เราจะแบ่งรถพ่วงม้าเพื่อให้เข้าใจง่าย ตามลักษณะจากการต่อพ่วงลาก เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆได้แก่ Bumper pull trailer และ Gooseneck trailer
Bumpers pull trailer มีลักษณะข้อต่อระหว่างรถกระบะและรถพ่วง เป็น ภาษาช่างเรียก “คอเต่า” มีการทำงานเป็นแบบหัวยืดหด เมื่อรถกระบะหยุดรถหรือชะลอความเร็ว รถพ่วงม้าจะมีแรงเฉื่อยจากน้ำหนักตัวรถและน้ำหนักบรรทุก ดันข้อต่อให้หดลงและส่งแรงหรือสัญญานไปที่ระบบห้ามล้อของรถพ่วง ทำให้รถพ่วงลดความเร็วลงไปด้วย ซึ่งลักษณะของข้อต่อจะมีความแตกต่างกันไป ตามการปรับปรุงคุณภาพตามแต่ละยี่ห้อ โดยรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ 4X4 หรือรถยนต์อเนกประสงค์ที่ใช้เป็นต้นกำลังนั้น จะต้องติดอุปกรณ์สำหรับลากจูง Towing bar และติดตั้งสายเต้ารับ เพื่อต่อสัญญาณไฟหยุด ไฟเลี้ยว ไฟถอย ไปสู่รถพ่วงม้าตามกฎหมายของการจราจรทางบก
Gooseneck trailer มีลักษณะการต่อพ่วงคล้ายรถพ่วงหัวลากขนาดใหญ่ แต่ลดขนาดลงมาเพื่อให้รถกระบะขนาด 1 ตันสามารถลากได้ โดยมีการต่อคอให้ยาวขึ้นไป มองดูแล้วคล้าย “คอห่าน” อันจะต่อกับชุดลากที่ติดตั้งอยู่กลางแซสซีของล้อหลังรถกระบะ ซึ่งจะมีหัวต่อโผล่ขึ้นมากลางกระบะ น้ำหนักของรถลากและน้ำหนักบรรทุกจะตกอยู่ที่กึ่งกลางระหว่างล้อหลังของรถกระบะ ไม่มีการเคลื่อนที่ของจำเชื่อมต่อที่ให้รถพ่วงม้าเป็นเสมือนอันหนึ่งอันเดียวกันกับตัวรถ เมื่อรถกระบะต้นกำลังออกตัว เคลื่อนที่ ชะลอความเร็วหรือหยุด รถชนิดนี้จะมีความปลอดภัยสูง สามารถขยายขนาดเพิ่มจำนวนม้า และพื้นที่ได้กว้างขวาง จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ
ส่วนประกอบอื่นๆของรถพ่วงม้าที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวรถ หลักๆก็จะคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันไปตามการเลือกใช้วัสดุของรถแต่ละยี่ห้อ ส่วนประกอบหลักของรถพ่วงม้า ได้แก่ แซสซี (Chassis) ระบบช่วงล่าง (Suspension) ตัวถัง (body) กันสะเทือน ยางและล้อ ห้องโดยสาร ห้องบรรทุก
ระบบช่วงล่าง (Suspension) แรกเริ่มเดิมทีใช้ระบบแหนบคาน (Beam) เหมือนล้อหลังของรถกระบะ ซึ่งรองรับน้ำหนักได้มาก แต่ไม่มีความนุ่มนวล มีแรงสั่นสะเทือนที่ข้อเท้าม้า ในระยะทางไกลหรือทางทุรกันดาล อาจจะทำให้ม้าเจ็บข้อเท้าหรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ ซึ่งจะต้องแก้ปัญหาด้วยการเสริมพื้นห้องบรรทุกด้วยยางแผ่นหนาที่มีความยืดหยุ่นในการซับแรง ต่อมามีการพัฒนาใช้ระบบทอร์ชั่นบาร์ คอยล์สริง และหรือหนวดกุ้ง (Torsion bar and coil spring) ซึ่งคล้ายกับล้อหลังของรถเก๋ง จะให้ความนุ่มนวลในการเคลื่อนที่ ลดแรงสะเทือนที่ข้อเท้าม้ายิ่งขึ้น แต่จะสูญเสียความสามารถในการบรรทุก ในรถพ่วงม้าราคาแพงบางยี่ห้อจะใช้ระบบทอร์ชั่นบาร์ กับถุงลม คล้ายกับล้อหลังในรถโดยสาร ให้ความนุ่มนวลในการขับขี่และลดแรงสั่นสะเทือนที่ข้อเท้าม้าได้ดีมาก
ตัวถัง (Body) ของรถพ่วงม้าเป็นองค์ประกอบหลักของตัวรถที่บ่งบอกคุณภาพและราคาของรถได้เป็นอย่างดี ตัวถังไม้อัดประกบด้วยสังกะสี เป็นวัสดุราคาถูก ความแข็งแรงต่ำ ไม่ทนทานต่อการใช้งาน ไม่ทนต่อสภาวะอากาศที่เปียกชื้น ตัวถังเหล็ก (Metal plate) เป็นตัวถังรถพ่วงม้ามาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป มีความแข็งแรง ทนทาน สามารถสร้างสรรค์งานออกมาได้หลายรูปแบบ หลากหลายลักษณะการใช้งาน แต่ไม่ทนต่อการเกิดสนิม จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำสีกันสนิมเพิ่มเติม ไฟเบอร์กาส (fiberglass) จะพบได้ในรถพ่วงม้าที่นำเข้าจากประเทศแถบยุโรป ในรถพ่วงม้าราคาแพงบางยี่ห้อจะใช้อะลูมินั่ม (aluminums) สร้างขึ้นมาเป็นตัวถังทั้งคัน
ห้องบรรทุกม้า แรกเริ่มเดิมทีจะให้ม้ายืนหันหน้าไปทางหน้ารถทั้งสองตัว แต่เมื่อต้องการบรรทุกม้ามากกว่า 2 ตัว จะให้ม้ายืนหันทะแยงมุม 60 องศา สอดคล้องกับบทความของ Monty Robert จากการสังเกตการณ์ของเขาขณะบรรทุกม้าด้วยรถไฟ ไม่มีซองบังคับควบคุม ม้าจะยืนทะแยงมุม 60 องศา กับทิศทางที่รถไฟเคลื่อนที่ไป ม้าเหล่านั้นจะทรงตัวได้ดีกว่ายืนหันหน้าไปทางที่รถไฟเคลื่อนที่ รูปแบบในห้องบรรทุกจึงมีรูปแบบเหมือนๆกันในรถแต่ละยี่ห้อ จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาประกอบ เหล็ก อะลูมินั่ม สแตนเลส ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อาทิ ช่องเก็บอาน และอุปกรณ์ต่างๆ
ห้องโดยสาร (Living quarter) หรือห้องพัก เป็นส่วนที่อำนวยความสะดวกเพิ่มเติม อาจจะมีห้องสุขา โต๊ะเตรียมอาหาร เตาอบไมโคเวฟ เครื่องดูดควัน เครื่องปรับอากาศ โต๊ะอาหาร ห้องนอน เตียงนอน จะถูกออกแบบให้ลงตัวกับพื้นที่ตอนหน้าในรถพ่วงม้า เป็นส่วนที่ทำให้รถพ่วงม้ามีราคาสูงขึ้น เพราะวัสดุที่นำมาใช้และตกแต่งไม่แตกต่างกับวัสดุที่ใช้ในเรือยอร์ช (yacht) มีการลงสีวานิช (vanish) เคลือบอย่างสวยหรู
การเลือกใช้รถพ่วงม้า จะต้องตั้งวัตถุประสงค์ในการใช้งานว่าเราจะต้องขนย้ายม้าไปที่ใด จำนวนกี่ตัว ความถี่ในการใช้งานบ่อยเพียงใด และที่สำคัญรถพ่วงม้าที่ขับเคลื่อนบนท้องถนนสาธารณะจะต้องมีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน มีระบบห้ามล้อที่เชื่อถือได้ มิเช่นนั้นอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ ผู้ขับขี่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการขับรถพ่วงม้า และตรวจเช็คสภาพรถพ่วงม้าก่อนที่จะใช้งานอย่างสม่ำเสมอ
แซสซี (Chassis) เป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ คือส่วนที่รองรับตัวถังตลอดจนน้ำหนักตัวรถพ่วงม้าและน้ำหนักบรรทุก โดยทั่วไป แซสซี (Chassis) ของรถพ่วงม้าจะทำขึ้นจากเหล็กกล้า ชุบด้วยกัลวาไนซ์ (galvanized steel) เพื่อให้รถพ่วงม้ามีความทนทานไม่เกิดสนิม อันมีสาเหตุมาจากน้ำฝน โคลนตม ตลอดจนอุจาระและปัสสาวะของม้า ในรถพ่วงม้าราคาแพงบางยี่ห้อใช้เหล็กกล้าปลอดสนิม ทำให้รถมีน้ำหนักเบาแต่คงทนแข็งแรง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น