New born:
แรกเกิด by นายโก้
แรกเกิด by นายโก้
การฝึกม้าเป็นงานที่ไม่มีคำว่าเริ่มต้น หรือสิ้นสุดเพราะเมื่อคุณเข้ามาสู่โลกของม้าแล้วการสื่อสารของคุณกับม้าก็จะเริ่มต้นขึ้นและจะสื่อสารระหว่างกันต่อเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด สุดแต่ว่าคุณจะรับรู้รับฟังการสื่อสารที่เค้าส่งมาให้หรือไม่เท่านั้นเอง การฝึกม้าให้ได้ม้าที่ดีซักตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลายๆท่านที่อยู่ใกล้ชิดกับม้าทุกวันคงจะพยักหน้า แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถที่เราจะทำได้
แนวทางการฝึกม้าสมัยปัจจุบันจะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับม้า (Horsemanship) ให้สื่อสารกันง่ายขึ้น และสามารถพัฒนาความสามารถของม้าให้ตรงตามความต้องการของผู้ขี่ได้มากยิ่งขึ้น “หากเราจะเริ่มฝึกม้าซักตัวถ้าเราเริ่มฝึกตั้งแต่ลูกม้าอยู่ในท้องจะทำให้การฝึกม้าง่ายขึ้นมากเพียงไร” แม่ม้าที่มีความสัมพันธ์กับคนในระดับดีลูกม้าที่เกิดมาก็จะมีความสัมพันธ์ในทางที่ดีด้วยหรือไม่
ในการเพาะพันธุ์ม้านั้น ผู้เพาะพันธุ์ (Breeder) ที่มีประสบการณ์จะบอกได้ว่าลูกม้าจากแม่ม้าตัวใดจะมีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร เพราะแม่ม้าที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เลี้ยง มีความไว้วางใจ ไม่ดื้อรั้น ไม่ก้าวร้าว ก็จะให้ลูกม้าที่มีลักษณะนิสัยที่ดีไม่ดื้อ อันเนื่องมาจากการที่ผู้เลี้ยงให้ความรัก ความเอาใจใส่ดูแล อาบน้ำ กราดแปรง ทำความสะอาดแม่ม้าอยู่สม่ำเสมอนั้น ลูกม้าในท้องจะได้รับการสัมผัสนั้นไปด้วย แต่แม่ม้าที่ดื้อ ไม่ไว้วางใจผู้เลี้ยงลูกม้าก็จะดื้อตามไปด้วย อันเนื่องมาจากพฤติกรรมแรกเกิด เรียนรู้จากการกระทำของแม่ (traditional behavior) และพฤติกรรมการเลียนแบบ (immitation)
กระบวนการการคลอดของลูกม้าเมื่อครบกำหนดคลอดประมาณ 334 วันหลังจากผสม (280-400 วัน) แม่ม้าจะแสดงอาการปวดท้อง กระวนกระวาย ไม่กินอาหารไม่กินหญ้า ผู้เลี้ยงจะต้องคอยดูให้ดีว่าใกล้ครบกำหนดคลอดหรือเสียดท้อง (Colic) ถ้าใกล้กำหนดคลอดควรเตรียมคอกคลอดด้วยวัสดุปูรองที่แห้งสะอาด ติดหลอดไฟให้แสงสว่าง ปิดกั้นคอกด้านล่างไม่ให้สัตว์อื่นเข้าไปรบกวนโดยเฉพาะสุนัข ซึ่งจะทำให้แม่ม้าตกใจและกลั้นไว้ไม่ยอมคลอด อันจะส่งผลเสียต่อแม่และลูกม้าตามมา
Imprinting behavior คือพฤติกรรมของลูกสัตว์แรกเกิดเมื่อได้รับสัมผัสจากแม่ก็จะรับรู้และฝังใจ เป็นสัญชาติญาณอย่างหนึ่ง เมื่อลูกม้าเกิดมาออกจากท้องแม่ม้าออกมาแล้ว แม่ม้าจะทำความสะอาดลูกด้วยการเลียเป็นกระตุ้นการหายใจของลูกม้า กัดสายรกแม่ม้าบางตัวอาจจะกินรกด้วยเพราะสัญชาตญาณในธรรมชาติแล้วม้าเป็นสัตว์ที่ถูกล่า กลิ่นคาวของน้ำคร่ำและเลือดจากการคลอดจะนำสัตว์นักล่ามาหาลูกน้อย และทำความสะอาดให้ตัวลูกม้าแห้ง เมื่อลูกม้าตัวแห้งดีแล้วแม่ก็จะส่งเสียง “หึ หึ หึ” (grunt) กระตุ้นให้ลูกม้ายืนขึ้นและลูกม้าจะเริ่มหาหัวนม (seeking teat) เป็นสัญชาติญาณร่วมกับพฤติกรรมการเรียนรู้ ซึ่งมีความสำคัญเพราะถ้าหากลูกม้าไม่ได้ดื่มนมน้ำเหลือง (colostrums) ภายในชั่วโมงแรกลูกม้าอาจจะไม่แข็งแรงไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค และถ้าไม่ได้กินนมแม่ภายใน 3 ชั่วโมงลูกม้าอาจจะตายได้
ลูกม้าเกิดใหม่ (new born) จะเทียบเท่าเด็กทารกจนกระทั่งอายุได้ 3 วัน หลังจากนี้ก็จะเป็นลูกม้า Foal ถ้าเป็นลูกม้าตัวผู้จะเรียกว่า Colt (โคลท์) จนกระทั่งเคยผสมพันธุ์เป็นพ่อม้าจะเรียกว่า Stallion (สเตเลี่ยน) หรือถ้าหากถูกตอนจะเรียกว่า Geld (เกลด์) และถ้าเป็นลูกม้าเพศเมียจะเรียก Filly (ฟิลลี่) และเมื่อตั้งท้องแล้วเป็นแม่ม้าจะเรียกว่า Mare (แมร์)
เราสามารถอาศัยพฤติกรรมนี้ในการฝึกม้าได้ด้วย แต่การเข้าไปมีส่วนร่วมของเรานั้นจะต้องไม่รบกวนพฤติกรรมตามธรรมชาติของแม่ม้าและลูกม้า ในม้าที่ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เลี้ยง แม่ม้าอาจจะตื่นกลัวพฤติกรรมความเป็นแม่ผิดปกติ อันจะส่งผลเสียตามมาเช่น แม่ม้าอาจจะละทิ้งลูก ไม่ยอมให้ลูกดูดนม ไม่เลี้ยง หรือไม่ยอมรับลูกม้าเลยก็ได้ การเข้าไปมีส่วนร่วมในช่วงนี้จึงควรจะคอยเฝ้าดูแม่ม้าคลายความวิตกกังวลก่อน เมื่อและจะต้องขออนุญาตจากแม่ม้าก่อนที่จะเข้าไปซึ่งจะดูได้จากภาษากายที่แม่ม้าตอบกลับมา
ช่วงแรกลูกม้าอาจจะตื่นกลัวเราจะต้องใจเย็นส่งเสียงพูดคุย ใช้เสียงในโทนต่ำ อย่าส่งเสียงเอะอะโวยวาย เคลื่อนไหวช้าๆ ให้ลูกม้ามีความไว้ใจ ในช่วงนี้เราอาจจะใช้ผ้าแห้งที่สะอาดเช็ดตัวให้ลูกม้าและตรวจสอบความผิดปกติต่างๆ ตรวจสอบอวัยวะว่าครบสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าหากลูกม้ามีอาการผิดปกติ เช่น หายใจขัดหรือมีเสียงดังในลำคอ เหงือกซีด ตัวสั่น ไม่สามารถลุกขึ้นยืนเองได้ ไม่ถ่ายขี้เทา ควรตามสัตวแพทย์โดยด่วน
หลังจากลูกม้าได้รับสัมผัสแรกจากเราแล้วการเข้าหาแม่ม้าและลูกก็จะง่ายขึ้น และเราก็จะเริ่มการฝึกลูกม้าด้วยวิธีการง่ายๆโดยอาศัยพฤติกรรมทางสังคมของม้า Social grooming คือการทำความสะอาดร่างกายให้กันและกันในฝูง ม้าจะผลัดเปลี่ยนกันกัดแทะขนแผงคอ ตามลำตัวตลอดจนโคนหาง ม้าที่จะทำการแทะเล็มให้กันจะต้องเป็นม้าที่เคยรู้จักกัน มีความเคยชินใกล้ชิดสนิทสนมมาก่อน เราจะเลียนแบบพฤติกรรมนี้มาใช้กับการฝึกลูกม้าของเรา
เริ่มจากการทำความสะอาดแม่ม้าลูกม้าจะอยู่ใกล้ๆแม่และเรียนรู้ว่าเรากำลังดูแลเอาใจใส่แม่ม้านั้น เป็นความสัมพันธ์ที่ดี และเราจะค่อยๆเริ่มทำความสะอาดลูกม้าโดยอาจจะใช้ถุงมือผ้าลูบตามตัวของลูกม้าให้ทั่ว อย่างช้าๆและใจเย็น ผลที่ได้คือลูกม้าจะยอมให้เราจับและควบคุมได้ง่ายไม่ขัดขืน ส่งผลต่อมาเมื่อเราใส่ขลุมและเริ่มจับจูง กระบวนการดังกล่าวจะต้องมีการทำซ้ำ จนลูกม้าเกิดความเคยชินก่อนที่จะเข้าสู่การฝึกขั้นต่อไปด้วยการจับบังคับ
ใส่ขลุมครั้งแรก เมื่อลูกม้าโตอายุได้ประมาณ 3-4 เดือนแล้ว มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เลี้ยงแล้วเราก็จะเริ่มฝึกใส่ขลุม ขลุมที่จะใส่ลูกม้านั้นควรมีขนาดเหมาะสมกับลูกม้า มีตะขอที่สามารถปลดออกได้ทันทีเมื่อต้องการ เราจะใสขลุมให้ลูกม้าครั้งแรกแรกประมาณ 5 – 10 นาที และจะต้องเฝ้าดูอยู่ตลอดจนกว่าจะถอดขลุมออก ลูกม้าอาจจะมีการดิ้นรนเพื่อให้หลุดจากขลุมจึงต้องระมัดระวังอย่าให้ขลุมเกี่ยวติดกับอะไรเด็ดขาด และในครั้งต่อๆไปเราก็จะเพิ่มเวลาให้นานขึ้น ห้ามใส่ขลุมลูกม้าทิ้งไว้เด็ดขาด
ฝึกจูง เมื่อลูกม้าอายุประมาณ 5 – 6 เดือนซึ่งจะใกล้ช่วงหย่านม (weaning) แล้วนั้นเราจะเริ่มฝึกจับจูงโดยใช้สายจูง (lead lop) ที่มีตะขอ (snap ling) และสายจูงผ้านุ่มไม่บาดมือยาวประมาณ 2 – 4 เมตร เริ่มต้นเอาแม่ม้าและลูกม้าเข้าสู่คอกวงกลม (round pen) สำหรับฝึกม้าซึ่งกล่าวถึงไปในฉบับที่แล้ว ให้ผู้ช่วยฝึกจับแม่ม้าให้ยืนนิ่ง ใส่ขลุมให้ลูกม้าแล้วเกาะตะขอสายจูงที่ขลุม ถ้าหากลูกม้าดิ้นรนที่จะหนีจากสายจูง ห้ามปล่อยสายจูงให้เดินตามลูกม้าไปแต่ให้สายจูงตึงอยู่ตลอด เมื่อลูกม้าสงบลงแล้วค่อยๆจับสายจูงให้สั้นเข้า ปลอบด้วยเสียงต่ำอาจใช้คำว่า “ดี ดี ดี”ลูบมือตามแผงคอหลังและสะโพก เมื่อลูกม้ายอมแล้วออกคำสั่ง “หน้าเดิน” ให้ผู้ช่วยฝึกเริ่มจูงแม่ม้าออกเดินตามแนวของคอกวงกลม ลูกม้าก็จะเดินตามแม่และอาจจะเริ่มตื่นและดิ้นรนอีกครั้ง ผู้ฝึกจะต้องค่อยๆปลอบและเดินตามไป เมื่อลูกม้าสงบลงจึงออกคำสั่ง “หยุด” (ลากเสียงยาว) ให้ลูกม้ายืนนิ่งประมาณ 1 นาที และจึงออกคำสั่งให้เดินทำอย่างนี้สลับไป 4 – 5 รอบแล้วจึงจูงแม่ม้าและลูกม้าออกจากคอกวงกลม กลับคอกพัก
การฝึกจูงจะต้องมีการฝึกซ้ำจนกระทั่งลูกม้ายอมรับคำสั่งจากผู้ฝึกไม่ได้เดินตามแม่แต่เพียงอย่างเดียว ทำการฝึกโดยนำแม่ม้าและลูกม้าเข้าสู่คอกวงกลม เริ่มต้นจากการจูงเดินโดยให้แม่ม้าเดินนำ 2 – 3 รอบ แล้ว ให้ผู้ช่วยนำแม่ม้าเข้าสู่งกลางคอกวงกลมแล้วหยุดรอ แต่ผู้ฝึกให้จูงลูกม้าตามแนวของคอกวงกลมต่อไป ถ้าลูกม้าไม่ยอมจึงหยุด แล้วให้ผู้ช่วยนำแม่ม้าจูงเดินนำต่อไป และเริ่มการฝึกใหม่จนกว่าลูกม้าจะยอมทำตามคำสั่งเรา
ในการฝึกม้าจะต้องมีการทำซ้ำและทบทวน ถ้าท่านรู้สึกเหนื่อยหรือเครียดมากก็ควรจะหยุดพัก และหลังจากผ่อนคลายจึงเริ่มการฝึกใหม่ ท่านควรจะมีสมุดบันทึก (Log book) เพื่อบันทึกข้อมูลว่าวันนี้เราได้ฝึกอะไรกับลูกม้าตัวนี้ไปแล้วบ้างมีความก้าวหน้าในการฝึกหรือไม่อย่างไร เพื่อนำมาแก้ไขการฝึกในครั้งต่อไป ฉบับหน้าเราจะเริ่มหย่านมลูกม้า โปรดติดตามตอนต่อไป
ตารางแสดงพฤติกรรมหลังคลอดของลูกม้า
เมื่อคลอด ถุงรกขาด หายใจ และปรับอุณหภูมิร่างกาย แม่จะเลียขนลูกให้แห้งและกัดสายรก
หลังคลอด 5- 10 นาที ขยับตัวพยายามลุกขึ้นยืน
หลังคลอด10-60 นาที ยืนได้มั่นคงไม่ล้ม
หลังคลอด 40 นาที มองเห็นและได้ยินเสียง
หลังคลอด 30-120 นาที หาเต้านม ดูดนม
หลังคลอด 30 นาที พฤติกรรมการสำรวจสิ่งแวดล้อม flehmen
หลังคลอด 100 นาที พฤติกรรมการเล่น
หลังคลอด 120 นาที ขับถ่ายปัสสาวะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น