Horse Shoe
“เกือกม้า” by นายโก้
ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้วเรื่องความสำคัญของกีบม้า ดังคำกล่าวที่ว่า “No Hoof No Horse” ในความหมายนั้นแสดงถึงความสำคัญของกีบม้าที่จะทำให้ม้าดำรงชีวิตโดยปกติสุข และสามารถรับใช้เจ้านายได้อย่างเต็มความสามารถ
ตั้งแต่ม้าถูกมนุษย์เอามาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงโดยชาวอียิปต์เมื่อ 3000 ปีก่อนคริสตการ และฝึกม้ามาใช้งานในการรบกีบเท้าม้าที่รับงานหนักจึงต้องได้รับการดูแลยิ่งขึ้น เกือกม้าในยุคแรกเริ่มจะใช้หญ้าแห้งฟางแห้งมาถักทอเป็นแผ่นรองเท้าม้าแล้วใช้เชือกมัดไว้ ยุดต่อมาชาวอียิปต์ใช้หนังสัตว์ฟอกฝาดนำมาเย็บเป็นถุงสวมที่กีบเท้าม้าและใช้เชือกมัดสำหรับม้าที่ใช้ในการสงคราม เกือกม้าที่ทำด้วยโลหะเป็นครั้งแรกถูกสร้างขึ้นในสมัยโรมันเรียกว่า “Iron Hippo sandal” ซึ่งทำให้กองทัพโรมันมีความเกรียงไกร ยุคมองโกลได้มีการพัฒนาเกือกม้าให้ใช้กับตะปูตอกเข้าไปที่ผนังกีบม้า ทำให้มีความทนทาน ทนต่อสภาพการใช้งานที่ธุรกันดาร คล่องแคล่ว ว่องไว ส่งผลกองทัพม้ามองโกลของเจงกีสข่านพิชิตได้กว่าครึ่งโลก
ปัจจุบันเกือกม้าที่เราพบเห็นทั่วไปก็จะมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ เกือกม้าที่ตีขึ้นรูปด้วยมือ และเกือกม้าสำเร็จรูปที่ถูกผลิตขึ้นมาให้มีหลายขนาด เหมาะกับการเลือกใช้งานต่างๆกัน จากพัฒนาการอันยาวนานการใส่เกือกม้า ได้มีการสร้างเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการใส่เกือกม้า ซึ่งจะได้แนะนำอุปกรณ์ที่จำเป็นในการใส่เกือกม้าได้แก่
กระโปรงหนัง (Apron) ลักษณะคล้ายผ้ากันเปื้อนทำจากหนังสัตว์ที่มีความหนา เพื่อป้องกันร่างกายของช่างเกือกจากการเตะของม้า หรือการดึงขากลับ กระโปรงหนังมีความสำคัญเมื่อเราจะต้องตีตะปูเข้าผนังกีบม้า ก่อนที่เราจะหักหางตะปูถ้าม้าสะดุ้งแล้วชักขากลับ ถ้าไม่ใส่กระโปรงหนังก็จะเกิดอันตรายจากหางตะปูที่ลากผ่านหว่างขาได้
ที่แคะกีบ (Hoof pick) ใช้แคะกีบเอาเศษดินเศษหินออกก่อนที่จะเริ่มแต่งกีบ บางคนมักง่ายเอามีดปาดกีบมาแคะขูดดินและหินออกจากกีบม้าก็จะทำให้มีดเสียความคมไปโดยใช่ที่
เหล็กตัดตะปู (Clinch cutter) ทำมาจากเหล็กกล้าลักษณะด้านหนึ่งคล้ายใบขวานใช้ตัดหางตะปูที่ถูกพับเพื่อถอดเกือกเก่าออกจากกีบม้า อีกด้านหนึ่งเป็นลักษณะคล้ายลิ่มเอาไว้ขยายรูตะปูที่เกือกม้าหลังจากทุบให้เข้ารูปกับกีบม้าตามต้องการแล้ว บางครั้งก็ใช้ประโยชน์ในการแคะกีบม้าได้อีกด้วย
คีมถอดเกือกม้า (Shoe puller) เป็นคีมตัวใหญ่ยาวประมาณ 12 นิ้วคล้ายคีมปากนกแก้วแต่ไม่มีความคม ใช้ดึงถอดเกือกเก่าออกจากกีบม้า ช่วยให้ดึงออกมาง่ายในมุมตรงกีบไม่แตกร้าว
คีมตัดกีบ (Hoof nipper) เป็นคีมตัวใหญ่ยาวประมาณ 12 นิ้วขึ้นไป ความยาวของด้ามที่ยาวขึ้นจะช่วยผ่อนแรงในการตัดผนังกีบ ใช้ตัดแต่งผนังกีบให้ได้รูปทรงตามความต้องการ
มีดแต่งกีบ (Hoof knife) เป็นมีดลักษณะพิเศษมีความคมมากปลายโค้งเข้าเพื่อให้ตัดเซาะเข้าร่องของบัวได้ง่าย มีดแต่งกีบของช่างเกือกจะมีด้านคมเพียงด้านเดียวตามความถนัดของช่างเกือก ซึ่งการใช้มีดแต่งกีบมีรูปแบบการใช้อย่างเฉพาะ
ตะไบแต่งกีบ (Rasp) ตะไบแต่งกีบเป็นตะไบที่ถูกสร้างขึ้นมาเฉพาะเท่านั้น ตะไบทั้งสองด้านจะต้องราบเรียบเสมอกันไม่โค้งนูน ด้านหนึ่งจะมีด้านตะไบละเอียดสำหรับการตะไบเพื่อปรับให้พื้นกีบสม่ำเสมอ อีกด้านเป็นตะไบหยาบใช้สำหรับงานที่ต้องตะไบพื้นกีบออกต่างกันมาก
ค้อนตีตะปู (Driving hammer) เป็นค้อนผลิตจากโลหะผสมพิเศษทำให้หัวค้อนมีน้ำหนักแต่ขนาดเล็ก ด้านที่หักหางตะปูมีความเฉพาะใช้หักหางตะปูตอกเกือกเท่านั้น
ค้อนตีเกือก (Hammer) ลักษณะคล้ายค้อนปอนด์แต่หัวค้อนถูกออกแบบมาเฉพาะให้มีด้านหนึ่งเรียบ เพื่อให้ตีเกือกได้เข้ารูปราบเรียบไม่บิดงอ อีกด้านหนึ่งมนเล็กน้อบเพื่อการทุบขอบเกือกตามความโค้งไม่ให้เป็นมุมกดพื้นกีบจนเกิดรองช้ำ การเลือกค้อนตีเกือกให้เหมาะกับช่างเกือก เมื่อกำหัวค้อนไว้ในมือแล้วด้ามค้อนควรจะยาวถึงข้อพับ จะทำให้การออกแรงเมื่อใช้งานเหมาะสม
ทั่งตีเกือก (Anvil) ทั่งตีเกือกเป็นแท่นเหล็กใช้รองรับการตีดัดเกือกให้ได้รูปตามต้องการ มีส่วนประกอบที่สำคัญ แท่น (face) รองรับการตีเกือกให้เรียบเสมอกัน และทุบเกือกให้ห่อเข้า โคน (table) เป็นช่วงต่อของเขากับแท่น ใช้ขยายเกือกให้บานออกแบบสมมาตร เขา (horn) ใช้รองรับการตีเกือกให้โค้งได้รูป รูเหลี่ยม (hardy hole) รูสำหรับดัดหางเกือกให้โค้งเข้ารองรับส่วนส้นกีบ
นอกจากอุปกรณ์ที่กล่าวมานี้ยังมีอุปกรณ์อื่นๆอีก เช่น มีดตัดคีมพับตะปู (Clincher) คีมจับเกือก (Tong) คีมถอดตะปู (Nail puller) คีมตรวจกีบ (Hoof tester) เหล็กเจาะรูเกือกม้า (Pitcher) ที่ลับคมมีด (Knife shaper) แผ่นยางรองกีบ (Sole pad) แผ่นรองส้นกีบ (Wedge bar) เตาเผาเกือก (Forge) ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการแต่งกีบและใส่เกือกม้า ให้ช่างเกือกมีความปลอดภัยในการทำงาน และยังลดเวลาในการทำงานอีกด้วย ทำให้ช่างเกือกสามารถใส่เกือกม้าได้หลายตัวในหนึ่งวัน
ตะปูตีเกือก (Horseshoe nail) ตะปูตีเกือกมีมากมายหลายแบบ และหลากหลายโลหะที่ผสมลงไป ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ตัวเลขหลังรหัส เช่น E4 หมายถึง ตะปูตีเกือก หัวเหลี่ยมธรรมดา ผสมตะกั่ว ความยาว 4 เซนติเมตร
เกือกม้า (Horseshoe) เกือกม้าโดยทั่วไปก็จะมีรูปร่างโค้งตามกีบม้าที่เราเคยเห็นกันอยู่ แต่ก็จะมีเกือกที่มีลักษณะพิเศษที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน หรือการแก้ไปความผิดปกติของโครงสร้างกีบม้าได้แก่ เกือกม้ารูปไข่ (Egg bar) ใช้สำหรับม้าที่มีส้นกีบต่ำ หรือผนังกีบไม่แข็งแรงต้องกระจายน้ำหนักแกไปทางด้านหลังด้วย ในกรณีม้าที่เป็นไข้ลงกีบ (Laminitis) เกือกม้ารูปหัวใจ (Heart bar) ใช้สำหรับม้าที่มีความผิดปกติที่กีบบัวไม่สามารถลงน้ำหนักได้ หรือเกิดการช้ำที่กีบบัว นอกจากนี้ยังมีเกือกม้าที่ใช้เฉพาะกีฬาอีกด้วย
เรื่องของเกือกม้ามีรายละเอียดมากมาย การใส่เกือกให้ม้าจะเป็นการเพิ่มประโยชน์ในการใช้งานให้แก่ม้ามากยิ่งขึ้น แต่การใส่เกือกม้าที่ไม่ถูกต้องนั้น ก็จะทำให้เกิดอันตรายให้แก่ตัวม้าถึงตายได้ การตีตะปูเข้าผนังกีบถ้าตีผิดล้ำจากแนวเส้นขาว (White line) เข้าไปก็จะเข้าสู่พื้นกีบซึ่งมีเส้นเลือดมาเลี้ยงเกิดการอักเสบและติดเชื้อได้ การใส่เกือกม้าควรใส่โดยช่างเกือกที่มีความระเอียดรอบคอบในการทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจากการใส่เกือกม้าขึ้นมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น